นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากกรณีปัญหาของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐ ที่จะส่งผลมาถึงฐานะของสถาบันการเงินไทยคงมีไม่มาก เพราะไม่ได้มีสาขาในไทย อีกทั้งธุรกรรมที่มีกับสถาบันการเงินไทยน้อยกว่าการลงทุนใน CDO
"ผลกระทบต่อแบงก์ไทยมีจำกัด และไม่กระทบต่อฐานะแบงก์ไทย เพราะว่าส่วนหนึ่งมีความระมัดระวังในการลงทุนต่างประเทศ และธปท.มีการกำชับเรื่องความเสี่ยง" นายบัณฑิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ใน 1-2 เดือน ภาวะตลาดของสหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายที่คาดว่าจะมีการถอนเงินลงทุนกลับไปแก้ปัญหาในสหรัฐ คล้ายกับช่วงต้นปีที่มีการโยกเงินกลับไปแก้ปัญหาผลกระทบจากซับไพร์มเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้สภาพคล่องในประเทศหดตัวลง ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิดและดูตัวเลขเป็นรายวัน
นอกจากนี้ ต้องติดตามเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วยว่าจะมีผลอย่างไร และอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย
รองผู้ว่า ธปท. กล่าวต่อว่า การลงทุนในต่างประเทศของระบบสถาบันการเงินไทยโดยตรงมีน้อย ส่วนเรื่องสภาพคล่องในไทยส่วนใหญ่การปล่อยสินเชื่อเป็นการระดมเงินฝากในประเทศ 70% ไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงินต่างประเทศ ดังนั้น ปัญหาที่ตลาดต่างประเทศตึงตัวจะกระทบต่อไทยค่อนข้างน้อย
อีกทั้ง ฐานะของธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันมีความเข้มแข็ง โดยในช่วงไตรมาส 1-2 ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีกำไรในระดับสูง หนี้ด้อยคุณภาพ(NPL)ลดน้อยต่อเนื่อง กองทุนต่อสินทรัพย์เสียง(BIS)มีความเหมาะสมเพียงพอ โดยทั้งระบบอยู่ที่ 15.2% เทียบกับเกณขั้นต่ำที่ 8.5%
จากตัวเลขธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินไทยกับเลห์แมนฯ สินเชื่อและการลงทุนในเดือนก.ค. จากธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง มีประมาณ 4,300 ล้านบาท และน้อยมากถ้าเทียบกับเงินลงทุนนอกประเทศของระบบสถาบันการเงินที่ไปลงทุนต่างประเทศ 1.02 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.3% ของสินทรัพย์รวมธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเลห์แมนฯ คงจะกระทบต่อเศรษฐกิจอเมริกาไม่มากนัก เพราะก่อนหน้านี้ตลาดมีการคาดการเกี่ยวกับฐานะเลห์แมนฯ ไว้แล้ว และมีการปรับตัวรองรับผลกระทบไปก่อนหน้านี้แล้ว
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--