ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการธนาคารอีก 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องครั้งใหญ่สุดในรอบ 7 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรมในสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 โดยเฟดมีเป้าหมายที่จะลดความร้อนแรงของต้นทุนการกู้ยืมซึ่งเป็นผลมาจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส
เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐยืนยันว่า บริษัทได้ยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลาย หลังจากแบงค์ ออฟ อเมริกา และธนาคารบาร์เคลย์ส ปฏิเสธที่จะเข้าซื้อกิจการเลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งธุรกิจที่ยื่นฟ้องขอพิทักษ์การล้มละลายครั้งนี้เป็นธุรกิจโฮลดิ้ง และไม่ครอบคลุมถึงบริษัทในเครือ
การอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบการธนาคารครั้งล่าสุดนี้ มีขึ้นหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ตลาดการเงิน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มวงเงินสภาพคล่อง
เบน เบอร์นันเก้ ประธานกรรมการเฟดกล่าวว่า "ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐ เราได้หารืออย่างต่อเนื่องกับผู้เกี่ยวข้องในตลาด ซึ่งรวมถึงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อระบุถึงจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดหลังจากเกิดปัญหาในสถาบันการเงินขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง และเพื่อพิจารณาถึงการตอบรับอย่าง เหมาะสมทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน"
"มาตรการที่เราประกาศออกมาในวันนี้ รวมทั้งมาตรการสำคัญ ที่ภาคเอกชนประกาศออกมา มีจุดประสงค์ที่จะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และลดอุปสรรคในตลาด" เบอร์นันเก้กล่าว
เฟดได้ขยายขอบเขตของหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ในการประกันการกู้ยืมในโครงการปล่อยกู้แก่บริษัทดีลเลอร์ชั้นนำ (PDCF) เพื่อให้ใกล้เคียงกับประเภทของหลักทรัพย์ที่สามารถใช้ในการประกันการกู้ยืมในระบบรีโปสามฝ่ายของธนาคารชำระบัญชีขนาดใหญ่สองแห่ง โดยก่อนหน้านี้หลักทรัพย์ ประกันการกู้ยืมในโครงการ PDCF ถูกจำกัดไว้เพียงแค่หลักทรัพย์ตราสารหนี้ที่มีอันดับน่าลงทุนเท่านั้น
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--