ADB เผยแนวโน้มอาจปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 52 หากการเมืองยังยืดเยื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 16, 2008 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายฌอง ปิแอร์ เวอร์บิสท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียประจำประเทศไทย(เอดีบี)คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 51 ยังน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 5% แต่มีแนวโน้มว่าอาจมีการปรับลดประมาณการในปี 52 หากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยังคงยืดเยื้อต่อไป
ก่อนหน้านี้ เอดีบีคาดว่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะมีอัตราการขยายตัว 5.2% แต่ถ้าปัญหาการเมืองยังมีความไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยจะกระทบต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้ไม่ต่อเนื่อง โครงการเมกะโปรเจ็คต์ก็อาจต้องเลื่อนออกไปอีก จากที่ปีนี้ยังไม่เกิดการลงทุนเลย
ขณะที่เศรษฐกิจโลกเองก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ดีนัก ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แค่ 4.5% ในปีหน้า แต่ก็ไม่ได้เกิดเฉพาะกับประเทศไทย ยังมีสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะลดลง เพราะพึ่งพิงเศรษฐกิจโลกมากไป
อย่างไรก็ตาม เอดีบี คาดว่าหากการเมืองของไทยจบภายในต้นปีหน้าเศรษฐกิจก็น่าจะเติบโตได้ 5% เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะดำเนินต่อไปได้
"ถ้าไม่เป็นอย่างที่คาดจะมีการทบทวนประมาณการใหม่ประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. 52...มองว่าถ้าการเมืองยังยืดเยื้อและรุนแรง ถ้า 1 ปี ทำให้การลงทุนไม่เกิด แต่จะยังมีการผลิตเพื่อสะสมสินค้าทุนอยู่ แต่ถ้ายืดเยื้อ 2 ปีกำลังการผลิตจะหดตัว ถ้า 3 ปี กำลังการผลิตจะหายไปเลย...แต่ประเทศไทยมีเรื่องประหลาดใจเสมอ ตัวเลขที่ออกมามักจะดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้"นายเวอร์บิสท์ กล่าว
นายเวอร์บิสท์ กล่าวว่า หากดูดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย โดยตัดปัญหาความเชื่อมั่นทางการเมืองไทย ยังพบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล เศรษฐกิจครึ่งแรกปีนี้ก็โตดี แต่ไทยกำลังเสียโอกาสที่จะทำได้ดีกว่านี้ และยิ่งหากรอนานไม่ทำอะไรก็จะมีผลกระทบ เพราะตอนนี้การส่งออกก็มีแนวโน้มที่จะลดลงตามเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวของไทยจะต้องคิดปรับปรุงโครงสร้างเพราะอาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันสูง
ส่วนประเด็นยุบสภาหรือไม่ยุบนั้น นายเวอร์บิสท์ กล่าวว่า คงไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง แต่สูญญากาศทางการเมืองที่น่ากังวลคือรัฐบาลไม่คิดและไม่ทำอะไร ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง เพราะนักการเมืองมุ่งแต่หาเสียง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มี แต่เรามั่นใจว่าการเลือกตั้งของไทยจบเร็วภายใน 3 สัปดาห์
กรณีปัญหาเลห์แมน บราเธอร์ส มองว่าทั้งไทยและเอเชียยังไม่ถูกกระทบ แต่เชื่อว่ายังมีบริษัทระดับโลกที่มีปัญหาอีกหลายบริษัทที่ยังไม่ถูกค้นพบ ซึ่งจะเกิดขึ้นมาอีกได้ ปัญหาเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของโลกสูงขึ้น และทำให้ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น
ที่ผานมา เศรษฐกิจโลกและไทยมีสภาพคล่องทางการเงินสูงและอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ต่อจากนี้ไปจะไม่เป็นแบบนี้แล้ว เพราะแม้ไม่มีวิกฤตซับไพร์ม แต่มีปัญหาเงินเฟ้อ
"ประเทศไทยสภาพคล่องการเงินลดลงเช่นเดียวกับเอเชีย ทำให้ต้นทุนการกู้สูง ต้นทุนการออกพันธบัตรสูงด้วย แต่ผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงินไทยไม่ค่อยมี"นายเวอร์บิสท์ กล่าว
สำหรับ เอดีบี ปีนี้ไม่มีแผนออกพันธบัตรเงินบาท เพราะยังไม่มีแผนใช้เงินกู้เป็นเงินบาท โดยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาออกไปแล้วมูลค่า 1-6 พันล้านบาท

แท็ก เอดีบี   เอเชีย   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ