เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จับตาดูพายุเฮอริเคน"ไอค์"ที่พัดกระหน่ำฐานการผลิตน้ำมันและก๊าสธรรมชาติในอ่าวเม็กซิโก เพราะเกรงว่าพิษสงของเฮอริเคนไอค์จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปยืนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหมือนกับพายุรุ่นพี่ อย่างเฮอริเคนริต้าและแคทรินา
แต่พลันสายตาทุกคู่ก็เบี่ยงเบนออกจากเฮอริเคนไอค์ และหันไปจับตา "พายุเฮอริเคนทางการเงิน" ที่ช็อคความรู้สึกของคนทั้งชาติ เมื่อหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมฉุกเฉินในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกให้กับ "เลห์แมน บราเธอร์ส" วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ ที่ขาดทุนหนักหลายไตรมาสติดต่อกัน จนต้องดิ้นรนขอเจรจาควบกิจการกับ แบงค์ ออฟ อเมริกา และธนาคารบาร์เคลย์สของอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านี้ เลห์แมน บราเธอร์ เคยขอเจรจาขายหุ้นให้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลี (เคดีบี), โนมูระ ซิเคียวริตีส์ของญี่ปุ่น และธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ของฝรั่งเศส ดอยช์ แบงค์ แต่สถาบันการเงินเหล่านี้ล้วนปฏิเสธที่จะซื้อ หรือ ควบกิจการกับเลห์แมน
การประชุมฉุกเฉินในช่วงสุดสัปดาห์จบลงด้วยข้อยุติที่ว่า รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจไม่อุ้มเลห์แมน บราเธอร์ส เหมือนกับที่เคยยื่นมือเข้าพยุงแฟนนี เม และเฟรดดี แมค สองสถาบันการเงินภายใต้การสนับสนุนของรัฐ โดยนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐยืนยันว่า รัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่นำงบประมาณของรัฐมากู้วิกฤตของเลห์แมน ซึ่งเท่ากับว่า รัฐบาลสหรัฐปล่อยให้เลห์แมน บราเธอร์ส ดิ้นรนและเผชิญมรสุมทางการเงินด้วยตัวเอง ซึ่งจุดยืนที่แข็งขันของรัฐบาลสหรัฐครั้งนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟดที่กล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ "This Week with George Stephanopoulos" ทางสถานีโทรทัศน์ ABC ว่า ..."รัฐบาลสหรัฐควรดำเนินการอย่างรอบคอบกับเลห์แมน บราเธอร์ส เพราะมีแนวโน้มว่าธนาคารและสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐจะประสบปัญหาทางการเงินจนถึงขั้นล้มละลายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งรัฐบาลไม่ควรเข้าไปพยุงหรือช่วยเหลือทั้งหมด เพราะในทุกเกมชีวิต ย่อมมีผู้ชนะและผู้แพ้"
..และในที่สุดเกมชีวิตก็บีบให้เลห์แมนเป็น "ผู้แพ้" เมื่อคณะผู้บริหารของเลห์แมนออกแถลงการณ์ว่า บริษัทได้ยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายที่ศาลแขวงกรุงนิวยอร์ก ซึ่งธุรกิจที่ยื่นฟ้องขอพิทักษ์การล้มละลายครั้งนี้เป็นธุรกิจโฮลดิ้ง และไม่ครอบคลุมถึงบริษัทในเครือ
การล้มละลายของเลห์แมนครั้งนี้ สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระบบสถาบันการเงินทั่วโลก เพราะถือเป็นการปิดฉากวาณิชธนกิจที่มีอายุถึง 158 ปี สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า วาณิชธนกิจที่มีระบบบริหารธุรกรรมทางการเงินเก่าแก่อย่างเลห์แมนก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะสินเชื่อที่หดตัวลงทั่วโลก แม้เลห์แมนจะก้าวข้ามพ้นวิกฤติเศรษฐกิจจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ หรือผ่านภาวะล้มละลายของวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชียเมื่อ 10 ปีก่อนมาได้ก็ตาม
ข่าวการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งเหว 504.48 จุด หรือ 4.42% ปิดที่ 10,917.51 จุดเมื่อคืนนี้ (15 ก.ย.) ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2544 อีกทั้งยังฉุดตลาดหุ้นในเอเชียดิ่งลงถ้วนหน้า โดยเช้าวันอังคารที่ 16 ก.ย. ดัชนีฮั่งเส็งเปิดตลาดทรุดลงไปกว่า 1,000 จุด ขณะที่ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวร่วงลงกว่า 600 จุดในช่วงเช้า
ก่อนหน้าที่ตลาดการเงินทั่วโลกจะช็อคไปกับข่าวการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์สนั้น ตลาดถูกกระทบอย่างหนักมาแล้วเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อแบร์ สเติร์นส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ได้ตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการขายกิจการให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค หนึ่งในวาณิชธนกิจที่ได้รับการยอมรับว่ามีงบดุลที่แข็งแกร่งในสุดในตลาดวอลล์สตรีท ส่งผลให้ความเป็นอิสระของแบร์ สเติร์นส์สิ้นสุดลง หลังจากบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดของสถานบันการเงินผู้ปล่อยกู้และหลังจากลูกค้าแห่ถอนเงินสดออกไปเป็นจำนวนมาก
ก่อนหน้าที่ แบร์ สเติร์นส์ จะขายกิจการให้เจพีมอร์แกนนั้น วาณิชธนกิจเก่าแก่อีกรายหนึ่งแห่งนี้ได้ยื่นขอวงเงินกู้ฉุกเฉินจากเฟดสาขานิวยอร์ก จนทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วตลาดวอลล์สตรีท
จากนี้ไป ทั่วโลกคงต้องจับตาดูพายุเฮอริเคนทางการเงินแบบชนิดไม่กระพริบตาว่า จะมีสถาบันการเงินรายใดที่เสี่ยงล้มละลายเป็นรายต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเมอร์ริล ลินช์ ประกาศขายกิจการให้กับ แบงค์ ออฟ อเมริกา ในเวลาไล่เลี่ยกับที่เลห์แมนยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลาย และหลังจากที่ กรีนสแปน อดีตประธานเฟด กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ ABC ว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิกฤตการณ์จะลุกลามอย่างรวดเร็วชนิดที่ตัวผมเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อน และสถานการณ์ดังกล่าวจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะใกล้นี้... แต่หากสถาบันการเงินตั้งอยู่บนรากฐานที่ถูกต้องและมีการลงทุนควบคู่ไปกับการออมเพื่อให้กลไกเศรษฐกิจทำงานอย่างสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน สถาบันการเงินก็จะอยู่รอดและไม่ล้มละลาย แต่สถาบันการเงินที่ทำเช่นนี้ได้หายากมาก"
โรเจอร์ อัลท์แมน อดีตรมช.คลังสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นซีอีโอบริษัท Evercore Partners Inc. แสดงความคิดเห็นผ่านสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า ก่อนหน้านี้ วาณิชธนกิจที่มีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดวอลล์สตรีทมีอยู่ 5 แห่ง แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่งบริษัททั้ง 2 แห่งจะรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ในเร็วๆนี้ โดยที่ผ่านมานั้น กิจการของโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ สามารถทำกำไรได้ในปีนี้ ไม่เหมือนกับเลห์แมน บราเธอร์ส และเมอร์ริล ลินช์ ที่ขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส
"ผมได้แต่คาดหวังว่า โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะสามารถหลุดพ้นวิกฤตการณ์ แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ในขณะนี้ คงต้องยอมรับว่ายากที่จะคาดเดา และหนทางที่วาณิชธนกิจกำลังจะเดินไปข้างหน้าก็ยังไม่แน่นอน ส่วนตัวผมเองก็ไม่แน่ใจด้วยเช่นกัน " อัลท์แมนกล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--