นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แม้ว่าปัญหาสถานะของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจใหญ่ของสหรัฐจะมีผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงินไทยไม่มากนัก แต่ก็อาจมีผลกระทบทางอ้อมต่อสภาพคล่องในระบบการเงิน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเพิ่มเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบโดยเร็ว
ทั้งนี้ ปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐ หลังเลห์แมน บราเธอร์ส เข้าสู่ภาวะล้มละลายมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินของไทยน้อย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยลงทุนกับเลห์แมนฯ ผ่านตราสารต่าง ๆ เพียง 4,300 ล้านบาทเท่านั้น คิดเป็นไม่ถึง 2 % ของวงเงินลงทุนต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากสถาบันการเงินไทยยังไม่เข้มแข็งพอที่จะไปลงทุนในลักษณะดังกล่าวจึงต้องมีความระมัดระวังในการลงทุนมาก
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบทางอ้อมมากกว่า เพราะวิกฤติการเงินในสหรัฐจะส่งผลต่อบริษัทและสถาบันการเงินในสหรัฐเกือบทุกแห่ง ซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทแม่ ที่จะต้องดึงเม็ดเงินลงทุนกลับไปช่วยพยุงสถานะของบริษัท ก็อาจทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินตึงตัวได้
"สิ่งที่เกิดขึ้นนักการเงินไม่เคยคาดคิดว่าจะมีผลกระทบรุนแรง และสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติการเงินที่สืบเนื่องมาจากซับไพร์มได้รุนแรงและจะขยายวงกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากเฟดไม่ได้เข้าไปช่วยอุ้มกิจการเหมือนกับกรณีของแฟนนี แม-เฟรดดี แมค" นายธวัชชัย กล่าว ผ่านรายการสถานีโทรทัศน์
ทั้งนี้ เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เสนอแนะให้รัฐบาลเร่งผลักดัน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 และเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเร็ว เพื่อให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบ เพราะหากล่าช้าก็จะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น เพราะขณะนี้ในระบบบเริ่มมีสัญญาณที่สภาพคล่องเริ่มตึงตัวแล้ว เนื่องจากภาคธุรกิจไม่กล้าขอสินเชื่อเพื่อขยายการลงทุน ส่วน ธปท.ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--