นายคณิศ แสงสุพรรณ ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.)เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยหลังบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย คงมีไม่มาก เนื่องจากไทยเข้าไปลงทุนกับเลห์แมนฯ ค่อนข้างน้อย แต่เป็นห่วงผลกระทบระยะสั้นที่สภาพคล่องในระบบมากกว่า เพราะอาจเข้าสู่ภาวะตึงตัวได้หลังจากมีเงินทุนไหลออกจำนวนมาก
นอกจากนี้ ต้นทุนการเงินในตลาดโลกจะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะพบว่าหลังมีปัญหาซับไพร์มในสหรัฐ ต้นทุนการกู้เงินในตลาดเริ่มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว และยังมีปัญหานี้ซ้ำเติมเข้าไปอีก
"ระยะสั้นที่จะกระทบ capital ที่เคยวิ่งอยู่ในอเมริกา แต่พอเห็นว่ามีปัญหามาก ๆ จะวิ่งออก ก็จะมีผลต่อค่าเงินและตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย แต่เนื่องจากไทยยังมีปัญหาการเมืองในประเทศ อาจทำให้มีเงินทุนไหลออกมากกว่าเข้า"นายคณิศ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายคณิศ กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบระยะยาว หลังจากสถาบันการเงินในสหรัฐมีปัญหาก็จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐที่จะชะลอตัวลง และต่อไปค่าเงินดอลลาร์ก็จะไม่เป็นเงินสกุลหลักของโลกอีกแล้ว โดยคาดว่าในอนาคตประเทศในภูมิภาคเอเซียอาจจะหันมากลับมามีความร่วมมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะการมีเงินสกุลภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบทางที่เกิดขึ้น เห็นว่าภาคการเงินและการคลัง ควรมีการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกันมากขึ้น โดยภาคการคลังจะต้องเร่งโครงการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็คต์ เพื่อไม่ให้ต้นทุนการกู้เงินปรับสูงขึ้นไปกว่านี้อีก และควรหันมากู้แหล่งเงินในประเทศมากขึ้น แม้จะมีต้นทุนสูงกว่าต่างประเทศแต่ก็มีความเสี่ยงน้อยกว่า
ส่วนนโยบายการเงิน ควรต้องกลับมาทบทวนการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยที่ผ่านมา และติดตามดูสถานการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--