พาณิชย์เชื่อวิกฤตการเงินสหรัฐฯไม่กระทบส่งออกไทย ทั้งปียังโตเกินเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 16, 2008 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่า การส่งออกของไทยในภาพรวมจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากกรณีที่บริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิจธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐล้มละลาย จากที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจลามไปถึงสถาบันการเงินอื่นๆ ของสหรัฐฯ และทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ลดลง ส่งผลให้ต้องชะลอการนำเข้าสินค้า
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามหาตลาดใหม่ทดแทน โดยยังเชื่อว่าการส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 20% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 12.5% หรือที่มูลค่าประมาณ 170,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัว ย่อมส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าไทย ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนคงต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้การส่งออกบรรลุตามเป้าหมาย แต่เชื่อว่าน่าจะได้รับผลดีจากการเกิดพายุไซโคลนไอค์ที่ทำให้สหรัฐฯ จะหันมานำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ อาหาร" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ
ด้านนายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ติดตามปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงจากปัญหาซัพไพร์มอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพราะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าไทย แต่จากมาตรการสนับสนุนการส่งออกด้านต่างๆ ทำให้ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ไว้ได้
โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกไทยไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นถึง 8.5% มูลค่า 11,683 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเป้าหมายทั้งปีที่ 2% เท่านั้น และไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 11% ของการส่งออกรวมของไทย
"ปีนี้ เราได้เปลี่ยนกลยุทธ์ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ โดยใช้ตัวแทนขายเป็นตัวบุกตลาดให้สินค้าไทย เน้นบุคคลที่ทำธุรกิจจัดซื้อจัดหาสินค้าส่งให้กับห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และผู้นำเข้าภายในสหรัฐฯ เพื่อให้เดินทางมาเลือกซื้อสินค้าในไทยแล้วนำสินค้าไปขายให้ แทนที่ไทยจะส่งออกไปขายเอง โดยมุ่งภาคตะวันออกของสหรัฐฯ รวมทั้งเน้นส่งออกไปตลาดอื่นทดแทน" นายราเชนทร์ ระบุ
อย่างไรก็ดี สำหรับการจัดทำเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 52 นั้น กรมส่งเสริมการส่งออกจะนำปัจจัยเรื่องวิกฤตการทางการเงินของสหรัฐฯ มาประกอบเป็นข้อมูลการพิจารณาด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ