ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปัญหาของวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐอย่าง Lehman Brothers และสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง พร้อมๆ กับการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราการว่างงาน คงจะส่งผลให้ปัญหาตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯต้องลากยาวออกไป โดยการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจะยังคงไม่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งนั่นก็อาจทำให้ตลาดการเงินทั่วโลก ตลอดจนสถาบันการเงินต่างๆ จะยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน คงจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินสหรัฐฯ จะขยายวงกว้างออกไปมากน้อยเพียงไร ซึ่งทำให้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)และทางการสหรัฐฯ ตลอดจนธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก อาจมีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาช่วยให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤติสภาพคล่องและการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของบรรดานักลงทุน ซึ่งน่าจะส่งผลให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกคงยากที่จะปรับตัวขึ้น ณ ขณะนี้
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ Lehman Brothers วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ แตกต่างไปจากกรณีวิกฤต Bear Stearns วาณิชธนกิจอันดับ 5 ของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมี.ค.51 หลายประเด็น
โดยเฉพาะประเด็นความช่วยเหลือด้านการเงินโดยตรงจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยในช่วงปัญหาของ Bear Stearns นั้น เฟดได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้านเงินทุนประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สำหรับสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องของ Bear Stearns โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอของบริษัท JPMorgan Chase ในการเข้าซื้อกิจการ Bear Stearns เนื่องจากปัญหาของ Bear Stearns ในช่วงนั้น สะท้อนถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการแก้ไขแล้ว ความปั่นป่วนวุ่นวายอาจมีขนาดที่รุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Bear Stearns ส่งผลทำให้เฟดต้องเปิดหน้าต่างปล่อยกู้โดยตรงให้กับดีลเลอร์ชั้นนำที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดวอลล์สตรีท (ประกาศในวันที่ 16 มี.ค.51) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ซึ่งเป็นมาตรการเสริมสภาพคล่องที่ไม่เคยใช้มาก่อนนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของเฟดและทางการสหรัฐฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัญหาของ Lehman Brothers ในรอบนี้ ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยข้อสังเกตหนึ่งที่ประเมินได้จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ก็คือ เฟดและทางการสหรัฐฯ ได้เลือกให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องมากกว่าที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยตรงแบบกรณีของ Bear Stearns หรือเข้าไปช่วยกอบกู้กิจการแบบกรณีของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค
ดังจะเห็นได้จากการเจรจาระหว่างเฟด กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ กับตัวแทนสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย.51 ประสบความล้มเหลว ก็ไม่พบว่าทางการสหรัฐฯ จะออกมาตรการมาช่วยเหลือจนในที่สุดวันที่ 15 ก.ย.51 ทาง Lehman Brothers ต้องออกประกาศที่จะยื่นเรื่องต่อศาลขอพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย
สำหรับกรณีของบริษัท Merrill Lynch & Co Inc. ก็เช่นเดียวกัน แต่แนวทางการแก้ไขปัญหาของบริษัท Merrill Lynch & Co Inc. ออกมาในรูปแบบของการทำข้อตกลงขายกิจการให้กับ ธนาคาร Bank of America โดยใช้หุ้นทั้งหมดเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ
ทั้งนี้ ท่าทีของเฟดในการหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยตรงในการเพิ่มทุนแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหานั้น คงจะเป็นเพราะ เฟด และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ไม่ต้องการที่จะสร้างภาระทางการเงินแก่ผู้เสียภาษี ซึ่งมักจะถูกวิจารณ์ว่า เป็นการนำเงินภาษีประชาชนไปช่วยสถาบันการเงินที่ดำเนินการอย่างไม่รับผิดชอบ
มาตรการฉุกเฉินด้านสภาพคล่องของเฟดที่ออกมาในช่วงเวลาเดียวกันกับการล้มละลายของ Lehman Brothers ก็คือ การที่เฟดได้ขยายขอบเขตของหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ค้ำประกันการกู้ยืมในโครงการปล่อยกู้แก่บริษัทดีลเลอร์ชั้นนำ(PDCF)เพื่อให้ใกล้เคียงกับประเภทของหลักทรัพย์ที่สามารถใช้ในการประกันการกู้ยืมในระบบ Repo สามฝ่ายของธนาคารชำระบัญชีขนาดใหญ่สองแห่ง โดยก่อนหน้านี้หลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมดังกล่าว ถูกจำกัดไว้เพียงแค่หลักทรัพย์ตราสารหนี้ที่มีอันดับน่าลงทุนเท่านั้น
นอกจากนี้ เฟดได้ขยายขอบเขตของหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ในการประกันการกู้ยืมในโครงการปล่อยกู้ในรูปของพันธบัตรรัฐบาล(TSLF)ด้วยเช่นกัน โดยหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้ประกันการกู้ยืมในการประมูลโครงการ 2 ได้นับรวมหลักทรัพย์ตราสารหนี้ที่มีอันดับน่าลงทุนทุกประเภท นอกเหนือไปจากพันธบัตรรัฐบาล หลักทรัพย์ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินทรัพย์หรือสัญญาจำนองที่มีอันดับความน่าเชื่อถือขั้น AAA ที่ได้อนุญาตไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--