ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต คาดการณ์ผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่อเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีแรกวิกฤติการณ์การเมืองยุติภายในเดือนก.ย. และพันธมิตรฯ ยุติการยึดทำเนียบรัฐบาล, กรณีที่สองวิกฤติการณ์การเมืองยืดเยื้อแต่ไม่รุนแรง รัฐบาลมีอายุ 2-3 เดือนแล้วตั้งรัฐบาลใหม่หรือยุบสภา และกรณีที่สามวิกฤติการณ์การเมืองรุนแรงจนนองเลือด และมีการรัฐประหารในเดือนต.ค.
กรณีแรก คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)ทั้งปีจะอยู่ที่ 4.8% และครึ่งปีหลังอยู่ที่ 3.9% ผลเสียหายทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการท่องเที่ยว 6,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการส่งออก 10,000 ล้านบาท ผลกระทบการลงทุน 1,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการบริโภค 2,000 ล้านบาท ในขณะที่การสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาท
กรณีที่ 2 โอกาสในความเป็นไปได้ของกรณีนี้เท่ากับ 60% ซึ่งคาดว่า GDP ทั้งปีจะอยู่ที่ 4.3% ครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 2.9% ผลเสียหายทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 68,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากการท่องเที่ยว 26,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการส่งออก 24,000 ล้านบาท ผลกระทบการลงทุน 6,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการบริโภค 12,000 ล้านบาท ในขณะที่การสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนไม่ต่ำกว่าสามแสนล้านบาท
กรณีที่ 3 คาดว่า GDP ทั้งปีจะอยู่ที่ 3.6% โดยครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 1.5% ผลเสียหายทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 137,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จาการท่องเที่ยว 77,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการส่งออก 24,000 ล้านบาท ผลกระทบการลงทุน 14,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการบริโภค 22,000 ล้านบาท ในขณะที่เมื่อเกิดการรัฐประหารการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านล้านบาท
"ความเสียหายของรัฐประหารยังมีขอบเขตจำกัดต่อเศรษฐกิจปี 51 เนื่องจากจะมีผลเฉพาะไตรมาส 4 แต่จะส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างรุนแรงในระยะต่อไป และมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเจอกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 52 หากมีรัฐประหารและความรุนแรงนองเลือดเกิดขึ้น" นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และรักษาการ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ระบุ
พร้อมกันนี้ได้เสนอ 9 ทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและผลกระทบทางเศรษฐกิจ ประการแรก เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีความประนีประนอม มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และขอให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เลือกคณะรัฐมนตรีที่นำมาสู่การหยุดยั้งวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสลายขั้วความขัดแย้งทางการเมืองในวันพุธนี้
ขอให้แก้ไขกฎหมายให้การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของราษฎร, พันธมิตรฯ ต้องถอนตัวออกจากทำเนียบรัฐบาลและไปชุมนุมในสถานที่ที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ทุกฝ่ายเคารพต่อกฎหมายและกติกาของสังคม, ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำ คำพูด พฤติกรรมในลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรงหรือเกลียดชังที่มีต่อกันมากขึ้น พร้อมกับเปิดการเจรจาของคู่ความขัดแย้งเพื่อแสวงหาทางออกให้บ้านเมือง
เปิดโอกาสให้ศาลยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายสะสางคดีทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ ดำเนินไปโดยปราศจากการแทรกแซง ยึดถือความเป็นกลางและเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด, ดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายประชาชนทุกสาขาอาชีพเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปทางการเมืองรอบใหม่ คัดค้านการดำเนินการใดๆที่นอกเหนือหลักการประชาธิปไตย และนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ
ออกกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับความผิดอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมือง, เรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง เน้นการให้ความรู้และข้อมูลต่อประชาชน เรียกร้องให้นักวิชาการปัญญาชนทำหน้าที่ให้สติปัญญากับ สังคมไม่แสดงความเห็นอย่างมีอคติ และประการสุดท้ายให้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติที่ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและค่านิยม
"แนวทาง 9 ประการนี้ มีเป้าหมายเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเมืองให้ดีขึ้น บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะสันติสุขและมีเสถียรภาพก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 51" นายอนุสรณ์ กล่าว
ส่วนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจขณะนี้ มองว่า ค่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้หากสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและตัวเลขดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 750 ได้ในช่วงไตรมาสสี่ สำหรับนโยบายการเงินมองว่าควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.50% เพื่อประคับประคองสภาวะเศรษฐกิจ โดยที่แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสสี่จะลดลงอย่างชัดเจนโดยอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะเกิน 6% ขณะที่มาตรการทางการคลังจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่จากปัญหาทางการเมือง การผ่อนคลายทางการเงินจึงเป็นมาตรการสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจ
ส่วนวิกฤตการณ์สถาบันการเงินสหรัฐฯ ในบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินโลกระยะหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอีกในไตรมาส 4 มีผลต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยในไตรมาส 4 ราคาน้ำมันอาจจะลงมาต่ำกว่า 80 ดอลลาร์/บาร์เรล อาจจะกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยลงไปต่ำกว่า 600 ในระยะสั้น รวมทั้งสถาบันการเงินไทยที่ลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่มีปัญหา
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--