คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้น (fed funds rate) ไว้เท่าเดิมที่ 2.00% และคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) ที่ 2.25% โดยมีเป้าหมายที่จะผ่อนคลายภาวะตึงตัวในตลาดการเงิน
อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เฟดเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งกู้ยืมโดยตรงจากเฟด ส่วนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากการกู้ยืมระหว่างกัน
เฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นไว้ที่ 2.00% นับตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมา และได้ลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นรวมแล้วทั้งสิ้น 3.25% นับตั้งแต่กลางเดือนก.ย. ปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจสหรัฐให้ขยายตัวต่อไปได้ หลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัยและวิกฤตการณ์สินเชื่อ
ทั้งนี้ เฟดได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า "คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นและอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้เท่าเดิม เพื่อมุ่งหวังที่จะผ่อนคลายภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและคลี่คลายสถานการณ์ปั่นป่วนในตลาด โดยคณะกรรมการตัดสินใจใช้วิธีอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน มากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย"
เมื่อวานนี้เฟดได้ระบายสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินสหรัฐ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องครั้งใหญ่สุดในรอบ 7 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรมในสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 โดยเฟดมีเป้าหมายที่จะลดความร้อนแรงของต้นทุนการกู้ยืมซึ่งเป็นผลมาจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส
เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐยืนยันว่า บริษัทได้ยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายแล้ว หลังจากแบงค์ ออฟ อเมริกา และธนาคารบาร์เคลย์ส ปฏิเสธที่จะเข้าซื้อกิจการเลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งธุรกิจที่ยื่นฟ้องขอพิทักษ์การล้มละลายครั้งนี้เป็นธุรกิจโฮลดิ้ง และไม่ครอบคลุมถึงบริษัทในเครือ
แถลงการณ์ของเฟดยังระบุด้วยว่า "หากจำเป็น เฟดก็พร้อมที่จะดำเนินการในขั้นตอนไปเพื่อยับยั้งภาวะตื่นตระหนกในตลาด ส่วนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเมื่อวานนี้นั้น เฟดมีเป้าหมายที่จะช่วยลดความร้อนแรงของอัตราเงินกู้ระหว่างแบงค์ เพราะหากต้นทุนการกู้ยืมยังสูงต่อไปก็อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ลังเลที่จะกู้ยืมระหว่างกัน ซึ่งจะยิ่งทำให้ตลาดสินเชื่อหดตัวลงอีก"
"ตลาดการเงินของสหรัฐตกอยู่ในสภาวะที่ตึงตัวมาก และตลาดจ้างงานก็ซบเซาลงอีกนับตั้งแต่การประชุมเฟดครั้งหลังสุดเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เฟดคาดหวังว่านโยบายผ่อนปรนด้านการเงินที่เฟดนำมาใช้ควบคู่กับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระดับปานกลาง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากภาคครัวเรือนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง นอกจากนี้ ภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำลง สถานการณ์เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในอีก 2-3 ไตรมาสข้างหน้า " แถลงการณ์เฟดระบุ
ส่วนในด้านเงินเฟ้อนั้น เฟดกล่าวว่า "ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคณะกรรมการเฟดมองว่าแนวโน้มของเงินเฟ้อยังคงไม่แน่นอน แม้มีข้อมูลบางด้านบ่งชี้ว่าตัวเลขเงินเฟ้ออาจจะขยายตัวปานกลางในปีนี้และปีหน้าก็ตาม"
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์บางกลุ่มในตลาดวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า เฟดอาจตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และการที่เมอร์ริล ลินช์ เผชิญปัญหาทางการเงินจนต้องขายกิจการให้กับแบงค์ ออฟ อเมริกา ถือเป็นวิกฤตการณ์ชั่วข้ามคืนที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--