ย้อนรอยสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สหรัฐล้มระเนระนาด เซ่นวิกฤตสินเชื่อ-ตลาดอสังหาฯตกต่ำ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 17, 2008 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สถาบันการเงินในสหรัฐมาถึงจุดพลิกผันครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression ) ซึ่งเป็นผลพวงมาจากภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์และปัญหาในตลาดซับไพรม์ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา เลห์แมน บราเธอร์ส ได้ยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ และในวันเดียวกันนั้น เมอร์ริล ลินช์ ประกาศขายกิจการให้กับแบงค์ ออฟ อเมริกา จนล่าสุดในวันนี้ บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) ยืนยันว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้วงเงินกู้ฉุกเฉินแก่ AIG แลกกับการที่เฟดเข้าไปถือครองหุ้น 79.9% ใน AIG
ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดซับไพรม์ของสหรัฐได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก อีกทั้งยังส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกตกอยู่ในภาวะ "เปราะบาง" และทำให้ระบบการเงินตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย
"ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ลุกลามไปทั่วทั้งระบบ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาที่อยู่อาศัยและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ที่ผ่านมานั้นธนาคารหลายแห่งต้องระดมทุน และมีการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี จนถึงขณะนี้ไอเอ็มเอฟคาดว่า ยอดขาดทุนของสถาบันการเงินในสหรัฐจะยังคงอยู่ที่ 9.45 แสนล้านดอลลาร์ เหมือนกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย." ไอเอ็มเอฟกล่าวในรายงานว่า Global Financial Stability Report
สำนักข่าวเอพีได้ออกรายงาน "ย้อนรอย" เหตุการณ์ในตลาดวอลล์สตรีทตั้งแต่เดือนมี.ค.จนถึงปัจจุบัน ที่สะท้อนภาพสถาบันการเงินสหรัฐที่ประสบปัญหา "ล้มละลาย"
- 16 มี.ค. : "แบร์ สเติร์นส์" วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ตัดสินใจขายกิจการให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค หลังจากบริษัทขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส และหลังจากลูกค้าแห่ถอนเงินสดออกไปเป็นจำนวนมาก โดยก่อนหน้าที่จะขายกิจการนั้น แบร์ สเติร์นส์ ยอมรับว่าได้ของวงเงินกู้ฉุกเฉินจากเฟดสาขานิวยอร์ก และเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
- 11 ก.ค.: รัฐบาลสหรัฐประกาศยึดกิจการธนาคาร "อินดีแมค" หลังจากธนาคารขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เพราะได้รับความเสียหายจากภาวะหดตัวในตลาดสินเชื่อ ราคาบ้านที่ทรุดตัวลง และยอดการผิดนัดชำระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น โดยก่อนล้มละลาย ธนาคารอินดีแมคมีสินทรัพย์ในครอบครองเป็นมูลค่ามากถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และการล้มละลายของอินดีแมคได้สร้างความเสียหายให้แก่บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corp : FDIC) ประมาณ 8.9 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลข 4-8 พันล้านดอลลาร์ที่ประเมินไว้เบื้องต้น
- 7 ก.ย.: เฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐ ประกาศแผนพยุงกิจการ "แฟนนี แม" และ "เฟรดดี แมค" ซึ่งเป็นหน่วยงานซึ่งรัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุน (GSE) และมีหน้าที่จัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หลังจากทั้ง 2 บริษัทขาดทุนในตลาดปล่อยกู้จำนองจนเป็นเหตุให้ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยเฟดระบุว่า แผนการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะพยุงสถานะทางการเงินของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วโลกว่า รัฐบาลสหรัฐพร้อมที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องตลาดสินเชื่อไม่ให้ประสบปัญหามากไปกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดการเงินสหรัฐผันผวนอย่างรุนแรงเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดซับไพรม์
- 10 ก.ย.: "เลห์แมน บราเธอร์ส" วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ ดิ้นรนขอร่วมทุนกับสถาบันการเงินหลายแห่งหลังจากขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส โดยสถาบันการเงินที่เลห์แมนติดต่อขอร่วมทุนด้วยนั้น ได้แก่ แบงค์ ออฟ อเมริกา ธนาคารบาร์เคลย์สของอังกฤษ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลี (เคดีบี) โนมูระ ซิเคียวริตีส์ของญี่ปุ่น ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ของฝรั่งเศส และ ดอยช์ แบงค์ แต่สถาบันการเงินเหล่านี้ล้วนปฏิเสธที่จะซื้อ หรือ ควบกิจการกับเลห์แมน
- 14 ก.ย.: กระทรวงการคลังและเจ้าหน้าที่เฟดได้จัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือถึงทางออกของเลห์แมน บราเธอร์ส แต่การประชุมจบลงด้วยข้อยุติที่ว่า รัฐบาลจะไม่นำงบประมาณออกมากู้วิกฤตของเลห์แมน ซึ่งเท่ากับปล่อยให้เลห์แมนดิ้นรนและเผชิญมรสุมทางการเงินด้วยตัวเอง
- 15 ก.ย.: ในที่สุด เลห์แมน บราเธอร์ส ตัดสินใจ "ผ่าทางตัน" ด้วยการยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายที่ศาลแขวงนิวยอร์ก ข่าวการล้มละลายของเลห์แมนได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วระบบสถาบันการเงินของโลก เพราะเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สถาบันการเงินของสหรัฐ และ ถือเป็นการปิดฉากวาณิชธนกิจที่มีอายุยาวนานถึง 158 ปี
- ในวันเดียวกันนี้ "เมอร์ริล ลินช์" วาณิชธนกิจรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งของสหรัฐ ตัดสินใจขายกิจการให้กับ แบงค์ ออฟ อเมริกา โดยเปิดทางให้แบงค์ ออฟ อเมริกา เข้าซื้อหุ้นสามัญของเมอร์ริล ลินช์ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมทั้งซื้อออปชัน หุ้นแปลงสภาพ และหน่วยหุ้น RSU (restricted stock units) เป็นมูลค่ารวมกันอีก 6 พันล้านดอลลาร์
- 16 ก.ย.: เฟดตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) แลกเปลี่ยนกับการที่เฟดเข้าไปถือหุ้น 79.9% ใน AIG พร้อมกับออกแถลงการณ์สยบความแตกตื่นในตลาดตั้งแต่ช่วงเช้าว่า "คณะกรรมการเฟดเล็งเห็นว่า สถานการณ์ตึงเครียดในตลาดการเงิน และการขาดสภาพคล่องของ AIG อาจซ้ำเติมตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว ให้แย่ลงไปอีก อีกทั้งจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม การปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินจะช่วยให้ AIG คล่องตัวทางการเงินจนสามารถดำเนินการตามภาระผูกพันเมื่อถึงเวลากำหนด และเงินกู้ดังกล่าวจะช่วยให้กระบวนการที่ AIG จะขายธุรกิจบางส่วนเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อไม่ให้เกิดภาวะชะงักงันต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ