ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของ อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือ เอไอจี บริษัทแม่ของบริษัทประกันชีวิต อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ หรือ เอไอเอ ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก จนอาจจะล้มครืนตาม เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงินเก่าแก่อายุ 158 ปีของสหรัฐ ได้สร้างความรู้สึกร้อนๆหนาวๆ ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเอง โดยชาวอเมริกันที่เป็นลูกค้าของบริษัทประกันรายใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งนี้ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากปัญหาที่บริษัทกำลังประสบอยู่หรือไม่ ขณะที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้าก็สงสัยว่าเหตุใดพวกเขาจะต้องสนใจเรื่องนี้ด้วย
คริส ไอซิดอร์ นักข่าวของ CNNMoney.com ช่วยไขข้อข้องใจเหล่านี้ โดยได้ไปสอบถามแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องซึ่งชี้ว่า ลูกค้าของเอไอจีในสหรัฐไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินที่ง่อนแง่นของบริษัท อย่างน้อยก็ในระยะสั้น เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทโฮลดิ้ง ไม่ใช่ธุรกิจประกันซึ่งเป็นบริษัทย่อยหรือบริษัทในเครือ และถึงแม้ว่าบริษัทโฮลดิ้งของเอไอจีจำเป็นต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลายต่อศาล ก็ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทในเครือจะดำเนินกิจการต่อไปตามปกติโดยที่ไม่ทำให้การจ่ายค่าสินไหมแก่ลูกค้าต้องสะดุดลง ทั้งนี้ หากเกิดกรณีที่บริษัทประกันเผชิญวิกฤติการเงินและไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมให้ผู้เอาประกันได้ หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในรัฐนั้นๆ จะเข้ามาควบคุมบริษัทและเป็นผู้จ่ายเงินแทน
สำหรับผู้ที่วิตกจนคิดจะเปลี่ยนไปทำประกันกับบริษัทอื่นนั้น โจเซฟ เบธ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยอินเดียนา และบรรณาธิการ The Insurance Forum ซึ่งเป็นจดหมายข่าวที่มีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจประกัน กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ โดยต้องพิจารณาประเภทของประกัน คุณสมบัติของผู้จะเอาประกันอาจไม่ผ่านหลักเกณฑ์ของบริษัทประกันแห่งใหม่ เป็นต้น โดยศ.เบธกล่าวให้ความมั่นใจว่า แม้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ได้ปรับลดอันดับเครดิตของตราสารหนี้ของเอไอจีเมื่อวานนี้ แต่อันดับเครดิตของเอไอจีก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่น่าลงทุน และบริษัทประกันในเครือก็ยังมีสถานะที่มั่นคง
อย่างไรก็ตาม แม้ลูกค้าบริษัทประกันจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าของเอไอจีและคิดว่าปัญหาของเอไอจีไม่มีความเกี่ยวข้องกับตนเองนั้น ก็อาจต้องทบทวนความคิดใหม่ เนื่องจากเอไอจีเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้ และหุ้นของบริษัทได้มีการซื้อขายโดยกองทุนรวมต่างๆ รวมถึงกองทุนในดัชนี S&P 500 และดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่หุ้นเอไอจีมีอิทธิพลต่อการดึงให้ดาวโจนส์ร่วงลงมากกว่า 400 จุดในปีนี้
เอไอจียังประกอบธุรกรรมซื้อขายตราสารอนุพันธ์ Credit Default Swaps (CDS) ซึ่งเลห์แมน บราเธอร์ส ก็เป็นผู้เล่นรายใหญ่รายหนึ่งในธุรกิจนี้ ดังนั้นถ้าสถาบันการเงินทั้งสองแห่งล้มลงไปพร้อมๆกัน ก็ยิ่งจะเป็นการทวีความตึงเครียดให้กับตลาดการเงิน ซึ่งส่งผลสืบเนื่องไปถึงลูกค้ารายย่อยและธุรกิจที่พยายามขออนุมัติเงินกู้
นอกจากนี้ แม้เอไอจีเป็นบริษัทประกัน ไม่ใช่ธนาคารผู้ปล่อยเงินกู้ แต่เอไอจีก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ต้องบาดเจ็บจากวิกฤติซับไพรม์ เนื่องจากบริษัทเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ที่หนุนโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage-Backed Securities) ซึ่งเอไอจีถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่กว่าบริษัทประกันอื่นๆ และเนื่องด้วยปัญหาการเพิกถอนสิทธิการถ่ายถอนจำนอง (Foreclosures) และการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น เอไอจีจึงหนีไม่พ้นต้องเจอปัญหาใหญ่ โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เอไอจีมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิมากกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่บริษัทเข้าไปลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในภาวะย่ำแย่
ด้วยเหตุนี้ เมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงได้ตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินมูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับเอไอจี แลกกับการถือหุ้น 79.9% โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือบริษัทประกันแห่งนี้ให้รอดพ้นจากการล้มละลายซึ่งอาจสร้างเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐจะเดินมาถูกทาง เมื่อปรากฏว่าตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นขานรับมาตรการเฟดเข้าช่วยเหลือเอไอจีในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ และอาจกล่าวได้ว่าเอไอจีพ้นวิกฤติ อย่างน้อยก็ในขณะนี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--