พลิกปูมเส้นทาง AIG จากวันที่เงินทุนเกินดุลบัญชี จนถึงวันที่ต้องขอกู้เงินจากเฟดเพื่อเลี่ยงล้มละลาย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 17, 2008 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ข่าวฮอตในนาทีนี้คงหนีไม่พ้นข่าวที่บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) บริษัทประกันรายใหญ่สุดของสหรัฐ ตัดสินใจหลีกเลี่ยงการล้มละลายด้วยการยอมรับวงเงินกู้ฉุกเฉินมูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แลกกับการที่เฟดเข้าไปถือหุ้น 79.9% ใน AIG 
สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยรายงานย้อนรอยเส้นทาง AIG จากวันที่มีเม็ดเงินทุน "เกินดุลบัญชี" อยู่ถึง 1.45-1.95 หมื่นล้านดอลลาร์ จนถึงวันที่ AIG ต้องเผชิญวิกฤตสภาพคล่องรุนแรง และยอมรับเงินกู้จากเฟด
- 8 ส.ค.2550 : AIG เปิดเผยกำไรไตรมาส 2 พุ่งขึ้น 34% แตะระดับ 4.28 พันล้านดอลลาร์ และไม่มีการประกาศลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนในตลาดซับไพรม์ สวนทางกับที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดว่า AIG จะขาดทุน 3.25 พันล้านดอลลาร์
- 9 ส.ค.2550: โรเบิร์ต เลวิส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงของ AIG ออกมายืนยันว่า สินทรัพย์ทั้งหมดที่ AIG ถือครองในตลาดซับไพรม์จะไม่ได้รับความเสียหาย นอกเสียจากว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐจะทรุดตัวลงขั้นรุนแรง
- 7 พ.ย.2550: AIG เผยกำไรไตรมาส 3 ร่วงลง 27% แตะระดับ 3.09 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจาก AIG ต้องขายสินทรัพย์บางส่วนที่ลงทุนไว้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อปกป้องบริษัทไม่ให้ขาดทุน
- 8 พ.ย.2550: AIG กล่าวในการประชุมว่า "ธุรกิจและการลงทุนของ AIG ในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐยังราบรื่นดี"
- 14 พ.ย.2550: AIG ประกาศซื้อหุ้นคืนมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเวลา 6 วันหลังจากราคาหุ้นของบริษัทดิ่งลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ที่ 56 ดอลลาร์
- 5 ธ.ค.2550: มาร์ติน ซัลลิแวน ซีอีโอ AIG กล่าวว่า แม้ AIG มีการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีเนื่องจากขาดทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ แต่สถานการณ์ด้านการเงินของบริษัทยังอยู่ในระดับที่ "จัดการได้" ซึ่งการยืนยันครั้งนั้นช่วยหนุนราคาหุ้น AIG ดีดขึ้นกว่า 4% แตะที่ 58.15 ดอลลาร์
- 11 ก.พ.2551: AIG เปิดเผยในรายงานที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐ ว่า บริษัทขาดทุนจากการทำสว็อปในตลาดสินเชื่อมากกว่าที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ถึง 4 เท่า คิดเป็นวงเงิน 4.88 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.ปี 2550 ซึ่งข่าวดังกล่าวได้ฉุดราคาหุ้น AIG ดิ่งลง 12% แตะที่ 44.74 ดอลลาร์
- 28 ก.พ.2551: AIG เปิดเผยยอดขาดทุนไตรมาสที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 89 ปีของบริษัท หลังจากต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีเป็นวงเงิน 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยในช่วงไตรมาส 4 บริษัทขาดทุนสุทธิ 5.29 พันล้านดอลลาร์ และประกาศระงับแผนการซื้อหุ้นคืนทันที
- 29 ก.พ.2551: AIG ออกมาสยบความตื่นตระหนกในตลาดด้วยการเปิดเผยว่า บริษัทยังมีมีเงินทุนเกินบัญชีอยู่ 1.45-1.95 หมื่นล้านดอลลาร์
- 8 พ.ค.2551: AIG เปิดเผยตัวเลขขาดทุนอย่างหนักระลอกที่สอง โดยในไตรมาสแรกของปี 2551 ขาดทุนถึง 7.81 พันล้านดอลลาร์ และยังต้องระดมทุนเพิ่มอีก 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีลงอีก การขาดทุนครั้งนี้ส่งผลให้ S&P และฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิต AIG
- 20 พ.ค.2551: AIG ยอมรับว่า ก.ล.ต.และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กำลังตรวจสอบแนวทางการทำสว็อปในตลาดสินเชื่อของ AIG ซึ่งทางบริษัทก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ข่าวดังกล่าวได้ฉุดราคาหุ้น AIG ดิ่งลง 6.8% แตะที่ 33.93 ดอลลาร์
- 6 ส.ค.2551: AIG เปิดเผยตัวเลขขาดทุนรายไตรมาสอีก 5.36 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดทุนติดต่อกัน 3 ไตรมาสซ้อน ขณะที่ผู้บริหารของ AIG ยอมรับว่าบริษัทจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่ม ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลงไปอีก 18%
- 15 ก.ย.2551: AIG หาทางระดมทุนโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากบริษัทต่างๆ อาทิ Kohlberg Kravis Roberts & Co. และ J.C. Flowers & Co. อีกทั้งมีข่าวว่า AIG ยื่นหนังสือขอกู้เงินโดยตรงจากเฟด ส่งผลให้ราคาหุ้น AIG ดิ่งลงอีก 61% จนมูลค่าหุ้นเหลือเพียง 4.76 ดอลลาร์ และยังถูกมูดีส์ปรับลดอันดับเครดิต
- 16 ก.ย.2551: เฟดตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินให้กับบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) มูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยออกแถลงการณ์ว่า "การขาดสภาพคล่องของ AIG อาจซ้ำเติมตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว ให้แย่ลงไปอีก อีกทั้งจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม การปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินจะช่วยให้ AIG คล่องตัวทางการเงินจนสามารถดำเนินการตามภาระผูกพันเมื่อถึงเวลากำหนด และเงินกู้ดังกล่าวจะช่วยให้กระบวนการที่ AIG จะขายธุรกิจบางส่วนเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อไม่ให้เกิดภาวะชะงักงันต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ