แกะรอยชะตากรรม"เลห์แมน บราเธอร์ส": จุดเริ่มต้นแห่งความอัปยศจนถึงฉากอวสาน

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 18, 2008 07:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ณ เวลานี้ สถาบันการเงินในสหรัฐได้เดินทางมาถึงจุดพลิกผันที่สำคัญอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์การเงิน เนื่องจากภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์และปัญหาในตลาดซับไพรม์ที่ส่งผลกระทบเลวร้ายอย่างไม่จบสิ้น โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมาเลห์แมน บราเธอร์ส กลายเป็นเหยื่อรายล่าสุดที่ต้องปิดตัวลงพร้อมกับยื่นเอกสารขอพิทักษ์ทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ หลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารชั้นแนวหน้าในตลาดวอลล์สตรีทและเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินของสหรัฐได้เข้าร่วมประชุมกันที่กรุงนิวยอร์ก เพื่อหามาตรการกู้วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับวาณิชธนกิจแห่งนี้เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา และจากภาวะระส่ำระสายทางการเงินในครั้งนี้ได้จุดกระแสความหวั่นวิตกต่อวาณิชธนกิจรายอื่นๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ และบริษัทประกันภัยในสหรัฐหลายแห่งในสหรัฐที่อาจเดินตามรอยโดมิโน่หัวแถวอย่างเลห์แมน บราเธอร์สให้ต้องล้มครืนตามๆกัน
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ นายทิโมธี กีธเนอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก คริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ ประธานคณะกรรมาธิการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ รวมถึงประธานฝ่ายบริหารของโกลด์แมน แซคส์ อิงค์, เจพี มอร์แกนเชส แอนด์ โค, มอร์แกน สแตนลีย์, ซิตี้กรุ๊ป อิงค์ และเมอร์ริล ลินช์ แอนด์ โค อิงค์ ขณะที่ตัวแทนจากเลห์แมน บราเธอร์ส ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้แต่อย่างใด
หลายบรรทัดต่อจากนี้ไป คือเส้นทางแห่งขวากหนามที่เลห์แมน บราเธอร์ส ต้องเผชิญ นับตั้งแต่วิกฤติสินเชื่อสหรัฐได้อุบัติขึ้น
- 22 สิงหาคม 2550: เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศแผนปิดธุรกิจปล่อยกู้จำนองให้ลูกหนี้กลุ่มซับไพรม์ พร้อมปรับลดพนักงาน 1,200 ตำแหน่ง
- 20 กันยายน 2550: คริส โอเมียร่า ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินได้ก้าวลงจากตำแหน่งประธานฝ่ายบริหารจัดการความเสี่ยง โดยมีนายอีริน คัลลัน ประธานฝ่ายวาณิชธนกิจด้านกองทุนเฮดจ์ฟันด์คุมบังเหียนในตำแหน่งดังกล่าวแทน
-13 ธันวาคม 2550: เลห์แมน บราเธอร์รายงานผลกำไรไตรมาส 4 ที่ระดับ 870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลประกอบการตลอดทั้งปีอยู่ที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- 17 มกราคม 2551: เลห์แมน บราเธอร์ส เปิดเผยว่า บริษัทจะหยุดให้บริการปล่อยกู้จำนอง ขณะที่สถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยอ่อนแอลงต่อเนื่อง
- 16 มีนาคม 2551: รัฐบาลสหรัฐและเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือวาณิชธนกิจแบร์ สเติร์นส์ โค ขณะที่นักวิเคราะห์เริ่มตั้งคำถามว่า วาณิชธนกิจรายอื่นๆจะล้มละลายตามกันหรือไม่
- 17 มีนาคม 2551: สื่อพร้อมใจรายงานข่าว ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ดได้แนะให้เทรดเดอร์เทขายหุ้นเลห์แมน
- 18 มีนาคม 2551: เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกที่ระดับ 489 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- 1 เมษายน 2551: เลห์แมนระดมทุนได้ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- 15 เมษายน 2551: ริชาร์ด ฟัลด์ ประธานและซีอีโอของเลห์แมน บราเธอร์สกล่าวกับนักลงทุนว่า ความเลวร้ายของวิกฤติสินเชื่อยังอยู่เบื้องหลังตลาดวอลล์สตรีท ขณะที่บรรยากาศในการดำเนินธุรกิจเต็มไปด้วยความท้าทาย
- 16 พฤษภาคม 2551: เลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศลดพนักงาน 1,400 ตำแหน่ง หรือประมาณ 5% ของพนักงานทั้งหมด
- 9 มิถุนายน 2551: เลห์แมน บราเธอร์ส รายงานตัวเลขขาดทุนไตรมาสสองประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและระดมทุนรอบใหม่จำนวน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- 12 มิถุนายน 2551: คัลลัน ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินเช่นเดียวกับโจเซฟ เกรกอรี ลงจากเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ขณะที่นายเฮอร์เบิร์ต แมคเดดก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้แทนนาย เกรกอรี ส่วนเอียน โลวิทท์ รับหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินแทนคัลลัน
- 29 สิงหาคม 2551: หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ รายงานว่าเลห์แมนกำลังเตรียมลอยแพพนักงานอีก 1,500 ตำแหน่ง
- 2 กันยายน 2551: รายงานข่าวระบุว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลี (เคดีบี) อยู่ในระหว่างพิจารณาที่จะเข้าซื้อหุ้นของเลห์แมนในสัดส่วน 25%
- 8-9 กันยายน 2551: หุ้นของเลห์แมนดิ่งลง 52% ท่ามกลางกระแสความวิตกกังวลว่า วาณิชธนกิจรายนี้กำลังเผชิญอุปสรรคในการหาแหล่งระดมทุนรายใหม่ ขณะที่การเจรจากับเคดีบีปิดฉากลงโดยไร้ข้อสรุป
- 10 กันยายน 2551: เลห์แมน บราเธอร์สรายงานตัวเลขขาดทุนไตรมาส 3 ที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแผนที่จะใช้มาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นตัวเลขดุลบัญชี ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นเพียง 1 วันหลังจากหุ้นของเลห์แมนดิ่งลง 45% จนทำให้ตลาดมีความวิตกกังวลมากขึ้น ขณะที่ฟัลด์กล่าวว่า บริษัทจะพิจารณาใช้นโยบายเชิงกลยุทธ์ที่มีอยู่ทั้งหมด
- 11 กันยายน 2551: หุ้นของเลห์แมนถอยรูดลงต่อเนื่องอีก 42% เนื่องจากนักลงทุนปฏิเสธแผนการดังกล่าว
- 12 กันยายน 2551: ผู้บริหารวอลล์สตรีทและเจ้าหน้าที่ด้านการเงินระดับสูงของสหรัฐประชุมที่สำนักงานของเฟดในสาขานิวยอร์กเพื่อหารือถึงการใช้มาตรการกอบกู้วิกฤตเลห์แมนก่อนที่ความระส่ำระสายครั้งนี้จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อภาคธุรกิจธนาคารในสหรัฐ
- 13 กันยายน 2551: เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมประชุมกันอีกครั้งที่เฟดสาขานิวยอร์ก ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงคลังจากประเทศต่างๆได้เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาก่อนที่ตลาดหุ้นเอเชียจะเปิดทำการซื้อขายในวันรุ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ