วู เซียวหลิง อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐที่เกิดขึ้นในขณะนี้สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่กำกับนโยบายประสบความล้มเหลวในการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งจีนต้องใช้วิกฤตนี้มาเป็นบทเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ธุรกิจในประเทศต้องประสบภาวะล้มละลาย
"วิกฤตการณ์ในสหรัฐสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านการกำกับดูแลและการละเลยต่อข้อบังคับขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้านบริการสินค้าทางการเงินรูปแบบใหม่" วูกล่าว "วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นกับสหรัฐในขณะนี้จะกลายเป็นปัญหาของจีนในวันข้างหน้า หากบริการทางการเงิน เช่น การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ถูกนำไปใช้โดยขาดมาตรการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม"
หลายปีที่ผ่านมา จีนได้ยืนกรานปฏิเสธคำแนะนำจากนายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐให้เร่งเปิดตลาดการเงินให้เร็วขึ้นพร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆเข้าสู่ตลาดมาโดยตลอด ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวช่วยให้จีนมีตัวเลขทุนและยอดการปรับลดมูลค่าทางบัญชีที่เกี่ยวเนื่องจากวิกฤตสินเชื่อไม่ถึง 1% จากยอดขาดทุนทั่วโลกที่ 5.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
เดวิด โคเฮน นักวิเคราะห์จากแอ็คชั่น อีโคโนมิกส์ในสิงคโปร์กล่าว "ทั่วโลกยังหวังที่จะพึ่งจีนให้เป็นผู้ช่วยรั้งปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะขาลง"
ทั้งนี้ ขุนคลังสหรัฐกล่าวเมื่อปีที่ผ่านมาว่า จีนมีความเสี่ยงว่าอาจต้องสูญเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ในการกว้านซื้อทรัพยากรธรรมชาติและอาจสูญเสียตำแหน่งความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหากยังไม่เร่งดำเนินการเปิดเสรีตลาดทุนโดยเร็ว โดยให้เหตุผลว่า การเปิดเสรีตลาดเงินจะช่วยให้จีนคลายความวิตกกังวลเรื่องการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้จีนพัฒนาประเทศไห้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพดีกว่าที่จะให้รัฐบาลยื่นมือเข้าแทรกแซง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในวันนี้ตลาดหุ้นในเอเชียดิ่งร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่สัญญาทองคำล่วงหน้าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลว่าจะมีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งที่ไปไม่รอดจนต้องปิดตัวลงเช่นเดียวกับที่เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ประสบภาวะล้มละลาย ขณะที่อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นเนล กรุ๊ป อิงค์ตกอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลสหรัฐ และมอร์แกน สแตนลีย์ กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาว่าจะรวมกิจการกับวาโชเวีย คอร์ป หรือธนาคารอื่นๆ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--