ผู้ว่าการธนาคารกลางหลายคนในเอเชียมองว่า ความเสี่ยงที่ประเทศในทวีปเอเชียจะได้รับผลกระทบเหมือนกับที่เคยวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในเอเชียเมื่อปีพ.ศ.2540 นั้น มีน้อยมาก พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า ภาวะปั่นป่วนในตลาดการเงินสหรัฐจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินในเอเชียด้วย
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กในกรุงเทพฯว่า "สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เปรียบเทียบกันไม่ได้กับวิกฤตการณ์ในปีพ.ศ.2540 คาดว่าผลกระทบโดยตรงจะเกิดขึ้นในวงที่จำกัดเท่านั้น แม้เราประเมินว่าเศรษฐกิจอาจชะลอลงบ้างในแง่ของผลกระทบที่เกิดจากช่องทางการค้าก็ตาม"
"ประเทศไทยซึ่งเคยถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียเมื่อครั้งที่รัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนก.ค.2540 นั้น ยังไม่เจอปัญหาขาดแคลนเงินทุน และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ในประเทศไทยยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง อุตสาหกรรมการธนาคารระมัดระวังและคำนึงถึงความเสี่ยงมากขึ้นนับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในปี 40 เพราะเราได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ส่วนตัวดิฉันคิดว่าธนาคารพาณิชย์ของเราทั้งหมดจะไม่ประสบปัญหาอย่างแน่นอน" นางธาริษากล่าว
ด้านนายมาซาอากิ ชิรากาวา ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า "ผมไม่คิดว่าภูมิภาคเอเชียจะเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินซ้ำอีก สภาวะเศรษฐกิจเอเชียในขณะนี้แตกต่างจากเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์เมื่อปีพ.ศ.2540-2541 และประเทศเอเชียมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สูงมาก ส่วนภาวะขาดทุนที่เกิดขึ้นกับแบงค์พาณิชย์ของญี่ปุ่นนั้น ผมเชื่อว่าจะไม่รุนแรงและจะสามารถกลับมาทำกำไรได้อีก และผมเชื่อว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินในสหรัฐจะไม่สร้างความเสียหายต่อระบบการเงินของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน"
บีโอเจอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินภายในประเทศติดต่อกัน 3 วันนี้ โดยในวันนี้ได้อัดฉีดสภาพคล่องมูลค่า 1.5 ล้านล้านเยน หรือ 1.43 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากเกิดวิกฤตการณ์รุนแรงในตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งสืบเนื่องมาจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และการขาดสภาพคล่องของบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) ส่วนเมื่อวานนี้ บีโอเจอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินภายในประเทศ 2 ล้านล้านเยน หรือ 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อวันก่อนที่มูลค่า 1.5 ล้านล้านเยน หรือ 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์
นายอามันโด เทนังโก ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์กล่าวกับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กว่า ธนาคารพาณิชย์ในฟิลิปปินส์ได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับเลห์แมน บราเธอร์ส ราว 0.3-0.4% ของสินทรัพย์โดยรวมทั้งหมด ซึ่งไม่มากพอที่จะส่งผลกระทบต่อฐานเงินทุนของธนาคารเหล่านี้
ขณะที่นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้แสดงความมั่นใจในสถานะของสถาบันการเงินในประเทศ เนื่องจากระบบธนาคารมีความแข็งแกร่งพอที่จะรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ผันผวนในต่างประเทศ
"เรามั่นใจว่าระบบธนาคารมีความแข็งแกร่งพอ ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกคนอย่าได้กังวลใจ รัฐบาลจะยังใช้มาตรการเดิมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และจะใช้นโยบายใหม่ร่วมด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวครอบคลุมไปถึงแบงค์เวสท์ด้วย" นายรัดด์กล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--