นายศุภชัย พาณิชภักดิ์ เลขาธิการ องค์การที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD) มองว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังยังสามารถเติบโตได้ดี โดยภาคส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นแต่เชื่อว่าไม่เป็นปัญหา เพราะขณะนี้ไทยพยายามหาตลาดส่งออกใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันออก
แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด, อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงอัตราดอกเบี้ย โดยมองว่านโยบายการคลังควรจะประสานไปด้วยกันกับนโยบายการเงิน เพราะเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีข้อมูลเศรษฐกิจที่สามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยได้ดี
พร้อมกันนี้ได้แสดงความเป็นห่วงต่อกรณีที่ประเทศไทยมีปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่น ซึ่งจะทำให้มีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นและนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้แม้การส่งออกจะเติบโตได้ดี ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรลดหรือช่วยอุดหนุนอัตราภาษีน้ำมัน เพราะจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้คนใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น
ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท.ควรจะคำนึงว่าต้องเป็นระดับที่ไม่สร้างหรือเพิ่มต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ เพราะมองว่าขณะนี้เรื่องเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจมากนัก ขณะเดียวกันแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกได้เริ่มปรับตัวลดลง ส่วนการลงทุนเมกะโปรเจ็คต์นั้น รัฐบาลควรระมัดระวังไม่ให้มีการลงทุนมากเกินไป เพราะจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ เนื่องจากในโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศมาก
นายศุภชัย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีหน้ายังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ไม่เกิน 3% จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3% ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐ และญี่ปุ่นจะลดลงตามเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ส่วนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้าเชื่อว่ายังไปรอด
ทั้งนี้ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียปีนี้เหลือ 6% จากเดิม 7% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะโตได้น้อยกว่า 6%
"ภาพของเศรษฐกิจโลกถึงแม้จะชะลอตัวลงไป แต่นักลงทุนต่างชาติยังมองประเทศไทยดีอยู่ แม้จะมีปัญหาภายในประเทศบ้างก็ตาม แต่เศรษฐกิจไทยยังใช้ได้ โดยเฉพาะการส่งออกมีบทบาทมาก ไม่มีอะไรเลวร้าย" เลขาธิการอังค์ถัด ระบุ
นายศุภชัย กล่าวว่า วิกฤติการณ์ทางการเงินของสหรัฐมีสาเหตุสำคัญจากการเปิดเสรีทางการเงินที่มากเกินไป ส่งผลต่อพฤติกรรมการค้าที่ต้องพึ่งพากลไกตลาดใหม่ๆ ที่สถาบันการเงินคิดค้นขึ้นมามากกว่าเดิม ทำให้เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดในเอเชียเมื่อ 10 ปีก่อนไม่ได้เป็นบทเรียนให้โลกรู้จักป้องกันหรือพร้อมรับมือกับสิ้งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤติการณ์ทางการเงินธรรมดา แต่จะส่งผลต่อระบบการเงินระหว่างประเทศและก่อให้เกิดการหดตัวของการค้าระหว่างประเทศมากถึง 30% ที่จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
"ผมไม่สามารถบอกได้ว่าปัญหาในปัจจุบันจะดำเนินไปอีกนานแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ ตลาดหุ้นต้องคอยจับตาดูความมั่นใจของนักลงทุนที่น่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง" นายศุภชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมในตลาดเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และมองว่าหากตลาดเงินยังคงดำเนินไปเช่นปัจจุบันก็เชื่อว่าประเทศไทยใน 3-4 ปีข้างหน้าอาจจะต้องประสบปัญหาวิกฤติอย่างแน่นอน จึงควรต้องอุดช่องโหว่ต่างๆ ในระบบเพื่อปรับปรุงกรอบการดำเนินการของระบบโดยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในภาคการเงิน พร้อมระบุว่ารัฐบาลไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการ การกดดันจากเงินเฟ้อ และผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะที่ ธปท.ก็มุ่งให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเงินเพียงอย่างเดียว
นายศุภชัย กล่าวว่า ทางอังค์ถัดเห็นตรงกันว่ารัฐบาลไทยควรยอมให้เหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินไปด้วยตัวของมันเองมากกว่าคอยออกมาตรการระวังและควบคุมจนเกินไป ทั้งๆ ที่ไม่มีความชำนาญอย่างแท้จริง
ส่วนสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันนั้น มองว่าการเมืองไทยที่มีขึ้นมีลงถือว่าเป็นช่วงเวลาของการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแม้การเมืองไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงแต่ยังเห็นได้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยก็ไม่ได้ต่ำลง เพราะต่างชาติยังมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่
ส่วนการที่นักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยหรือประเทศใดๆ นั้น จะพิจารณาว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนซึ่งมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ประเทศไทยจะต้องทำให้ชัดเจน
"การเมืองเพื่อการเมืองไปไม่ได้ แต่การเมืองเพื่อเศรษฐกิจไปได้" นายศุภชัย กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--