ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แห่งสหรัฐ กล่าวว่า เขาจะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน เนื่องจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้กำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อระบบการเงินของชาติ
"ขอให้ชาวอเมริกันทุกคนมั่นใจว่า เราจะใช้มาตรการเพื่อสร้างตลาดการเงินให้แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ และจะกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาให้จงได้"
นอกจากนี้ บุชยังกล่าวปกป้องกรณีที่ทางการสหรัฐเข้าไปเทคโอเวอร์กิจการบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) รวมทั้งการพยุงกิจการแฟนนี เม และเฟรดดี แมค และล่าสุดคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกกฎข้อบังคับให้กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ เปิดเผยสถานะการทำช็อต-เซล เพื่อลดภาวะผันผวนในตลาดหุ้น
"มาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ผมเชื่อว่าตลาดสามารถปรับตัวรับกับมาตรการที่ได้ประกาศใช้ไป" บุชกล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังจากประกาศยกเลิกแผนการเดินทางเยือนต่างประเทศ เพื่อแถลงข่าวคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจ
ในการแถลงข่าวของบุชครั้งนี้ นางดานา พาริโน โฆษกสภาคองเกรสถือโอกาสกล่าวชี้แจงแก่สื่อมวลชนว่า "รัฐบาลสหรัฐใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะไม่ได้รับความเสียหาย แม้ดิฉันไม่อาจบอกพวกท่านได้ว่าวิกฤตการณ์การเงินจะสิ้นสุดลงได้เมื่อใด แต่ดิฉันเชื่อว่ามันจะสิ้นสุดลงแน่นอน"
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐหลายคนไม่รู้สึกประทับใจกับแถลงการณ์ของบุชในครั้งนี้ โดยนางแนนซี เพโลซี โฆษกทำเนียบขาวสังกัดพรรคเดโมแคตรกล่าวว่า "ดิฉันประหลาดใจที่ท่านประธานาธิบดีแสดงความคิดเห็นเพียงสั้นๆเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาด ท่านประธานาธิบดีออกมาพูดเพียงไม่กี่นาที แล้วก็พูดสั้นมาก ท่านควรจะกล่าวคำขอโทษต่อชาวอเมริกันด้วยซ้ำ ที่นโยบายของท่านเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกามาถึงจุดพลิกผันขนาดนี้"
ด้านนายบารัค โอบามา ตัวแทนพรรคเดโมแครตที่เตรียมไปชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐในการเลือกตั้งเดือนพ.ย. กล่าวสนับสนุนมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน โดยเขากล่าวว่า "ความปั่นป่วนในตลาดการเงินเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามเศรษฐกิจของเรา แต่ผมขอแนะนำให้เฟดดำเนินการให้รวดเร็วขึ้นเพื่อกระตุ้นระบบการเงินของเราให้ทำงานตามกลไกลปกติ และเร่งปล่อยวงเงินสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของสหรัฐ"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อวานนี้ เฟดร่วมมือกับธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ธนาคารกลางสวิส และธนาคารกลางแคนาดา โดยร่วมประกาศลงนามในข้อตกลงพื่อลดภาวะสภาพคล่องตึงตัว ซึ่งครอบคลุมถึงการขยายวงเงินสว็อปเป็น 1.80 แสนล้านดอลลาร์ และการระดมเงินทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาด
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--