นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า เชื่อว่าภาวะจากนี้ไปปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกยังไม่จบสิ้น โดยยังมีปัญหาอีกหลายระลอกที่จะตามมา ดังนั้นการทำงานของ รมว.คลัง และ รมช.คลังคนใหม่ จะต้องทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ
ทั้งนี้ในส่วนของภาครัฐจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 51,52 เดินหน้าโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กท์ในการหาแหล่งเงินทุน เร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ รมว.คลัง มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ราคาพืชผลเกษตร, การรับจำนำข้าว ที่ถือเป็นเรื่องดีที่ให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและยืนหยัดได้กับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
นพ.สุรพงษ์ ยอมรับว่าเป็นห่วงเศรษฐกิจในปีหน้า ซึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในปีนี้ คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบมาก ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องเร่งผลักดันนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง โดยเน้นดูแล Real Sector โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งปี 52 มีงบประมาณรายจ่าย 1.88 ล้านล้านบาท ซึ่งหากไตรมาสแรกปีงบ 52(ต.ค.51-ธ.ค.51) ภาครัฐสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ถึง 25% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 22% ก็เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้ต้องเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กท์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสามารถประมูลและก่อสร้างได้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า แพ็คเก็จมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น รัฐบาลใหม่ต้องเร่งผลักดันให้ออกมาใช้ควบคู่กันด้วย ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยเฉพาะการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
"หากเราไม่พยายามดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ความสามารถการแข่งขันของเราจะต่ำลง เพราะเห็นจากหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ได้ปรับปรุงระบบภาษีไปแล้ว" นพ.สุรพงษ์ ระบุ
โดยเห็นว่านโยบายเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรดา และนิติบุคคล ตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) นั้น หลายประเทศมักจะมุ่งไปที่การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา แต่ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ประเทศไทยเองจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยเฉพาะการขึ้นภาษี VAT เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในขณะนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะปรับขึ้น เพราะจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจและภาระให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบโดยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดานั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ไปพิจารณาปรับปรุงการลดภาษีดังกล่าวให้เกิดประโยชน์แก่คนชั้นกลางและชั้นล่างมากกว่า เพื่อสร้างแรงกระตุ้นของการขยายฐานภาษีมากกว่าเน้นเรื่องการจัดเก็บรายได้
"แม้จะมองว่าลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ แต่หากมีการสร้างแรงจูงใจ มีมาตรการให้คนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น การลดภาษีดังกล่าวอาจไม่ได้ทำให้เม็ดเงินภาษีที่รัฐจะเก็บได้ลดลง เพราะเชื่อว่ายังมีผู้อยู่นอกระบบภาษีอีกมาก เห็นได้จาก 6 มาตรการ 6 เดือน มีผู้สร้างอพาร์ตเม้นท์ให้เช่าที่อยู่นอกระบบภาษีเป็นจำนวนมาก" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้เห็นว่าการขยายฐานภาษีนี้รัฐบาลต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ประชาชนและผู้เสียภาษีมีความรู้สึกว่าถูกเร่งรัด และส่งผลกระทบในการสร้างภาระ ซึ่งหากมีการปรับปรุงระบบภาษีที่ดีแล้วจะไม่เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--