ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีผลการดำเนินงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี มีกำไรสุทธิสูงถึงจำนวน 4.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8 พันล้านบาท และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ที่ขยับขึ้นจาก 3.45% ในปี 2550 มาที่ 3.69% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
แต่จากสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลัง ระบบธนาคารพาณิชย์ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจ โดยคาดว่า สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ช่วงที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มลดลง โดยคาดว่าทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง จากความเสี่ยง ทั้งเศรษฐกิจในประเทศและนอกประเทศ และธนาคารพาณิชย์ จะมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพสินทรัพย์
โดยความเสี่ยงจาก เศรษฐกิจในในประเทศ เกิดจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่กระทบต่อเนื่องมาถึงการใช้จ่าย การลงทุน และการก่อสร้างจากภาครัฐให้ล่าช้าออกไป และมีผลให้สินเชื่อรายใหญ่ขาดแรงหนุน และ กดดันความเชื่อมั่นในการบริโภค กระทบต่อความต้องการสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อเอสเอ็มอีด้วย
ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในโลก จากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก คาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลตามมาให้ความต้องการสินเชื่อจากภาคธุรกิจชะลอตัว ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจอ่อนตัวลง ตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลง ยังน่าจะลดความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2552 จะขยายตัวที่ 9-10% โดยที่ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะชะลอตัวจากครึ่งปีแรก 0.05-0.10 % มาอยู่ที่ 3.59-3.64% โดยการแข่งขันในตลาดเงินฝากน่าจะลดความรุนแรงลง ตามความจำเป็นด้านสภาพคล่องที่ผ่อนคลายลง และหาก ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะช่วยประคับประคองให้ระบบการเงินไทยมีสภาพคล่องเพียงพอกับความต้องการของผู้เล่นทุกฝ่าย จะทำให้การแข่งขันด้านเงินฝากในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเน้นไปที่การรักษาส่วนแบ่งตลาดเงินฝากมากขึ้น
สำหรับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องรับรู้ผลขาดทุน หรือภาระจากการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนในตราสารของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาทางการเงิน และต้องจับตามองคุณภาพสินทรัพย์ของระบบธ.พาณิชย์ หลังพบว่า สัดส่วนหนี้จัดชั้นหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (ชั้นที่ 2) ต่อหนี้จัดชั้นรวมแล้ว มีสัดส่วนที่ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.9% ณ สิ้นปี 2550 มาที่ 3.5% ใน Q 2/2551 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าปัญหาการถดถอยของคุณภาพหนี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะทวีความรุนแรงขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--