ผศ.นฤมล สอาดโฉม รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า บิสิเนส สคูล) ชี้ว่า ต้นตอของปัญหาวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ประสบวิกฤตการทางการเงินมาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ ความซับซ้อนของตราสารทางการเงินที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลไม่สามารถติดตามได้ทัน
ส่วนสาเหตุอีกประการ อยู่ที่วัฒนธรรมองค์กรของสถาบันการเงินเหล่านี้ที่พยายามสร้างแรงจูงใจให้พนักงานด้วยโบนัสที่สูง ตามผลตอนแทนจากการลงทุนที่สูง จึงทำให้มีความพยายามจะรับความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้นการลงทุนของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ จึงเต็มไปด้วยความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา นิด้า บิสิเนส สคูล กล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น ในทางตรงคงมีเพียงการโยกย้ายเงินทุนระยะสั้นที่เห็นชัดในตลาดหุ้นไทย แต่หากพิจารณาพอร์ตการลงทุนของสถาบันการเงินในไทยส่วนใหญ่แล้วแทบไม่พบการเข้าไปลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูงเลย แต่การลงทุนจะเน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก
แต่ทั้งนี้ยอมรับว่า อาจเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยระยะยาว โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งจะขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาของสหรัฐฯ เพราะหากการแก้ปัญหาทำได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและปัญหาไม่ลุกลามทำให้ประเทศในยุโรปเกิดปัญหามากนักก็อาจจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทกับเงินเยนมีโอกาสอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินปอนด์
ขณะที่ปัจจัยบวกที่ยังคาดหมายกัน คือ การเข้าไปซื้อบริษัทที่ประสบปัญหาเหล่าโดย Sovereign Wealth Fund(SWF) ที่จะสามารถช่วยประคับประคองภาวะวิกฤติทางการเงินของสหรัฐฯ ได้
ผศ.นฤมล แนะให้สถาบันการเงินและภาคเอกชนไทยบริหารความเสี่ยง เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถประเมินความเสียหายที่เป็นเม็ดเงินได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะความหวั่นวิตกว่าปัญหาดังกล่าวจะลุกลามต่อไปเพียงใด ดังนั้นการเตรียมพร้อมด้วยการรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับภาคเอกชนและสถาบันการเงินไทยในขณะนี้
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--