ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 ก.ย.) โดยดอลลาร์ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายสัปดาห์เมื่อเทียบกับยูโรและเงินปอนด์ เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่ามาตรการแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์อาจส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณมูลค่ามหาศาล
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งลง 105.15 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ระดับ 107.42 เยน/ดอลลาร์ และร่วงลงแตะระดับ 1.0703 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1049 ปอนด์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.4835 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.4464 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินปอนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.8607 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.8315 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.6922 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6875 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.8483 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8338 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
นักลงทุนกระหน่ำขายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างหนักหน่วง เพราะมองว่ามาตรการกู้วิกฤติในตลาดการเงินสหรัฐของนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง อาจเป็นปัจจัยลบที่สกัดกั้นความแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนมองว่ามาตรการดังกล่าวใช้งบประมาณสูงเกินไปและอาจส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐขาดทุนงบประมาณมากขึ้น
ไมเคิล พอนด์ นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ส แคปิตอล กล่าวว่า "สหรัฐใช้งบประมาณโดยรวม 7 แสนล้านดอลลาร์ในการกอบกู้วิกฤติตลาดการเงิน และการใช้งบประมาณอีก 4 แสนล้านดอลลาร์ในการรับประกันกองทุนรวมในตลาดการเงิน จะช่วยกระตุ้นการกู้ยืมในตลาดได้มากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้มาตรการดังกล่าวสามารถกระตุ้นนักลงทุนให้กลับมามีความเชื่อมั่นในตลาดได้อีก แต่สายตาทุกคู่กำลังจับอยู่ที่ยอดขาดดุลงบประมาณและยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐ"
จอห์น เทย์เลอร์ ประธานบริษัท Foreign Exchange Concepts Inc. กล่าวว่า "แม้มาตรการดังกล่าวจะช่วยคลายความตึงตัวในตลาดการเงินได้ แต่กลับจะสร้างแรงกดดันให้กับค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มตระหนักว่ารัฐบาลทุ่มงบประมาณในมาตรการนี้มากเกินไปและอาจสร้างความเสียหายต่องบดุลของรัฐ"
ขณะที่เบเนดิค เจอร์มาเนียร์ นักวิเคราะห์จาก UBS AG กล่าวว่า "มาตรการกอบกู้วิกฤติที่รัฐบาลสหรัฐประเมินว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในภาคการเงินได้นั้น กลับถูกวิพากษ์วิจารย์ในวงกว้างว่าเป็นมาตรการที่ไม่แน่นอนและอาจทำยอดขาดดุลงบประมาณบานปลาย นอกจากนี้ การที่นักลงทุนไม่มั่นใจในมาตรการดังกล่าวยังเป็นปัจจัยลบที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ด้วย"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--