ศูนย์วิจัยฯคาดราคาเหล็ก Q4/51 กลับมาสูงอีก แนะทำสัญญาล่วงหน้าคุมต้นทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 23, 2008 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกไตรมาส 4 ปีนี้มีโอกาสกลับมาปรับสูงขึ้นได้อีก หลังจากช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีทิศทางการชะลอตัวลงจากราคาเฉลี่ยของเดือนกรกฏาคมที่ได้พุ่งขึ้นไปสูงถึง 1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยราคาเฉลี่ยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1,154 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า และเป็นการลดลงครั้งแรกหลังจากราคาเหล็กได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันตลอดระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ถึงร้อยละ 68.5
ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญจากเรื่องอุปสงค์และต้นทุนเป็นตัวกระตุ้น โดยปัจจัยด้านอุปสงค์นั้นพบว่าความต้องการเหล็กอยู่มากในจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง เพราะจีนยังมีการซ่อมแซมสาธารณูปโภคหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ ประกอบกับมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ขณะที่อินเดียและตะวันออกกลาง มีนักลงทุนทั่วโลกสนใจเข้าไปลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างและยานยนต์ ซึ่งต้องการใช้เหล็กเป็นจำนวนมาก ส่วนปัจจัยต้นทุนมาจากแนวโน้มต้นทุนการผลิตบางตัวที่อาจสูงขึ้น หลังจากที่ราคาได้ปรับลดลงไปในช่วงก่อนหน้า
"ราคาที่ปรับขึ้นนี้จะไม่ขึ้นไปสูงเท่ากับระดับสูงสุดในเดือนก.ค.51 หลังจากคาดการณ์กันว่าราคาเหล็กได้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ว และอุปสงค์ของตลาดหลายแห่งก็ยังไม่สื่อให้เห็นถึงทิศทางที่จะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้จากปัญหาเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถปรับเพิ่มราคาเหล็กขึ้นได้มากดังเช่นช่วงก่อนหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โอกาสที่ราคาเหล็กจะดีดตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 ยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมไปถึงสัญญาณของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ทรุดลง ตั้งแต่รัฐบาลประกาศกฏข้อบังคับให้ผู้ซื้อบ้านชำระเงินดาวน์เพิ่มขึ้น และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นมากเกินไป ส่งผลให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในจีนชะลอลง ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อปริมาณอุปสงค์เหล็กในตลาดโลกที่อาจจะชะลอลง และส่งผลต่อระดับราคาที่ตกต่ำลงได้
สำหรับผลต่อธุรกิจไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่านอกจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงผันผวนแล้ว ผู้ประกอบการไทยที่ต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศต้องเผชิญกับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมยานยนต์อาจได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่ผันผวน ควรจะวางแผนแนวทางในการควบคุมต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด แนวทางหนึ่งคือการทำสัญญาล่วงหน้าในการซื้อขายทั้งการซื้อขายเหล็กและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากราคาที่ผันผวน รวมถึงติดตามสถานการณ์ราคาเหล็กและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาต้นทุนดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ