สนข.เสนอปรับแบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สีชมพูเป็นโมโนเรลบางช่วงช่วยลดต้นทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 23, 2008 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เสนอแนวทางการปรับรูปแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-รัชดาภิเษก-บางกะปิ-ศรีนครินทร์-เทพารักษ์-สำโรง) และสายสีชมพู (ปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ-หลักสี่-รามอินทรา-สุวินทวงศ์ ) โดยปรับโครงการเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา(โมโนเรล)บางช่วงของเส้นทาง เพื่อลดต้นทุนก่อสร้างลง 50%  
ทั้งนี้ สนข.จะสรุปแผนการปรับโครงการและแผนการก่อสร้าง การออกแบบรายละเอียดให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในเดือน ก.พ.52 ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ สนข.ไปศึกษาแผนรายละเอียด ในแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ที่จะดำเนินการก่อสร้างในอนาคต และให้พิจารณาประเด็นเรื่องการนำระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล มาปรับใช้กับโครงการรถไฟฟ้าเพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ ในพื้นที่มีถนนแคบ สามารถลดการเวนคืนเขตทาง ลดผลกระทบจากมลภาวะทางเสียง และที่สำคัญจะสามารถลดวงเงินก่อสร้างในโครงการได้อีกด้วย
นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาปรับรูปแบบโครงการรถไฟฟ้าในอนาคต พบว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอาจนำรูปแบบโมโนเรลมาใช้ได้ในช่วงสี่แยกรัชดาลาดพร้าว-หัวหมาก ระยะทางประมาณ 12 กม. และเชื่อมต่อกับโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ที่สถานีหัวหมาก โดยเส้นทางนี้มีระยะทางรวม 32 กม.จำนวน 18 สถานี
ส่วนโครงการสายสีชมพู สามารถใช้ระบบโมโนเรลได้ในช่วงติวานนท์-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ-และบางซื่อ ระยะทาง 10 กม. ซึ่งจะบรรจบกับโครงการสายสีน้ำเงิน สายสีแดง และสายสีเขียว โดยเส้นทางนี้มีระยะทางรวม 41 กม. จำนวน 13 สถานี
แหล่งข่าวจากสนข. กล่าวว่า รถไฟฟ้าโมโนเรลจะมีลักษณะพิเศษ คือ สามารถก่อสร้างสถานีและโครงสร้างพื้นฐานบนถนนในเส้นทางที่มีช่องจราจรแคบ วงเงินลงทุนต่ำกว่าการก่อสร้างงานโยธาของระบบรถไฟฟ้าทั่วไป และปัจจุบันระบบล้อจะใช้ล้อยาง จึงเกิดมลภาวะด้านเสียงค่อนข้างน้อย
นอกจากนั้น ต้นทุนค่าก่อสร้างต่ำกว่าระบบรถไฟฟ้าปัจจุบันประมาณ 30% โดยรถไฟฟ้าใต้ดินมีต้นทุนค่าก่อสร้างเฉลี่ยกิโลเมตรละ 3 พันล้านบาท รถไฟฟ้ายกระดับมีต้นทุนค่าก่อสร้างเฉลี่ยกิโลเมตรละ 1,100-1,200 ล้านบาท แต่รถไฟฟ้าโมโนเรลมีต้นทุนค่าก่อสร้างเฉลี่ยกิโลเมตรละ 600-800 ล้านบาท และสามารถก่อสร้างได้ภายในเวลา 2 ปี
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า หากได้รับการแต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคมอีกครั้งจะเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้า โดยจะแบ่งงานในความรับผิดชอบออกเป็น 4 กลุ่ม คือ งานระบบราง งานขนส่งทางน้ำ งานขนส่งทางบก และงานขนส่งทางอากาศ โดยจะมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้ากลุ่ม และจะประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามเร่งรัดงาน
"ที่ผ่านมาไม่ได้ทำงานล่าช้า แต่ระบบราชการจะมีขั้นตอนที่ต้องทำตามระเบียบค่อนข้างมาก แต่หลังจากจัดกลุ่มงานใหม่ทุกอย่างจะเร็วขึ้น"นายสันติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ