สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) มั่นใจแผนการออกพันธบัตรเพื่อการกู้เงินของภาครัฐในปีงบประมาณ 2552 จะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะยังคงออกตราสารทางการเงินราว 4.35 แสนล้านบาท
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีแผนการระดมทุนในปีงบประมาณ 2552 วงเงินรวม 435,691 ล้านบาท แบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาล 2.33 แสนล้านบาท, พันธบัตรออมทรัพย์ 6 หมื่นล้านบาท, ตั๋วสัญญาใช้เงิน 43,191 ล้านบาท, ตั๋วเงินคงคลัง 6.35 หมื่นล้านบาท และเครื่องมืออื่นๆ ที่จะใช้ในการระดมทุนอีก 3.6 หมื่นล้านบาท
สำหรับการระดมทุนดังกล่าวจะนำมาใช้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.49 แสนล้านบาท, ปรับโครงสร้างหนี้ 2.02 แสนล้านบาท และให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ 1.1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะได้รับการชำระหนี้คืนจำนวน 2.67 หมื่นล้านบาท
ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า แผนการระดมทุนและบริหารหนี้ในปีงบประมาณ 2552 ที่ได้จากการหารือร่วมกับผู้ร่วมตลาด ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และกองทุนต่างๆ ตอบรับกับการออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังเป็นอย่างดี เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ รวมทั้งไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติทางการเงินของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนเสนอให้กระทรวงการคลังมีแผนงานการระดมทุนที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่ต้องการลงทุนสามารถวางแผนล่วงหน้าได้, เสนอให้มีการออกตราสารหนี้ใหม่ๆ เช่น กองทุนที่มีการลงทุนในระยะยาว, Inflation link bond, Bond future เป็นต้น, เสนอให้รวมรุ่นตราสารหนี้ภาครัฐที่มีเป็นจำนวนมาก แต่วงเงินที่ออกแต่ละรุ่นน้อย และเสนอให้จัดตั้งตลาดตราสารรองเพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้เงินสามารถนำพันธบัตรออมทรัพย์ที่ถืออยู่ออกขายได้ จากปัจจุบันที่ขายออกได้ยากและถูกกดราคา
นอกจากนี้ ในส่วนของรัฐวิสาหกิจยังมีแผนจะก่อหนี้อีกกว่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะประสานกับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเพื่อจัดทำตารางการออกพันธบัตรให้เกิดความชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน หรือแย่งตลาดกัน
ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้รับการยืนยันว่าขณะนี้ในระบบมีสภาพคล่องมากกว่า 8 แสนล้านบาท ดังนั้น แผนระดมทุนของกระทรวงการคลังจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องในระบบ และจะมีการประสานงานกันเพื่อให้การออกพันธบัตรอายุ 3-5 ปีของกระทรวงการคลังไม่ให้ตรงกับช่วงเวลาของ ธปท.
ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังยังไม่ปรับเปลี่ยนแผนการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ แม้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐจากวิกฤติสถาบันการเงินส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงก็ตาม แต่หลังจากทางการสหรัฐได้จัดตั้งกองทุนวงเงินกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ เข้ามาดูแลสถาบันการเงินของสหรัฐ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และเชื่อว่าตลาดจะเริ่มมีเสถียรภาพ เห็นได้จาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศในตลาดได้ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่จะเกิดปัญหาวิกฤติเลห์แมน อยู่ที่ Libor บวก 1.7% ปรับลดลงมาอยู่ที่ Libor บวก 1.4% ในขณะนี้แล้ว
"ที่มองว่าบาทจะแข็งค่าหลังจากดอลลาร์อ่อนค่า แต่ไม่ได้กระทบต่อแผนการบริหารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งแผนการรีไฟแนนซ์ยังเป็นไปตามปกติ เนื่องจากเงินกู้ต่างประเทศของรัฐบาลมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จากเจบิค" นายพงษ์ภาณุ กล่าว
ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า ปัญหาอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐจะสร้างปัญหาแก่รัฐวิสาหกิจที่มีเงินกู้ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกระทรวงการคลังคงต้องเร่งหารือและประสานงานกับรัฐวิสาหกิจเพื่อจัดการรีไฟแนนซ์เงินกู้ต่างประเทศ แปลงหนี้เป็นเงินบาท เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/กษมาพร/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--