เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พร้อมด้วย เฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ แถลงต่อสภาคองเกรสเมื่อคืนนี้ โดยเบอร์นันเก้กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะทรุดตัวลงหากตลาดภายในประเทศไม่เคลื่อนไหวตามปกติตามกลไก ซึ่งทั้งเบอร์นันเก้และพอลสัน เรียกร้องสภาคองเกรสให้เร่งผ่านร่างแผนการช่วยเหลือสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์
"ผมเชื่อว่า ถ้าตลาดสินเชื่อไม่ทำงานตามกลไกที่ปกติ อัตราว่างงานจะพุ่งสูงขึ้นอีก จำนวนบ้านถูกยึดจะเพิ่มขึ้น และตัวเลข GDP จะถดถอยลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวช้าลง เป้าหมายเดียวของผมในขณะนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้แข็งแกร่งและฟื้นตัวโดยเร็ว" เบอร์นันเก้กล่าวต่อสภาคองเกรส
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสภาคองเกรสให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ทำให้แผนการดังกล่าวยังไม่ผ่านร่างก็เพราะยังไม่มีรายละเอียดมากพอและยังไม่ครอบคลุมมากพอ ขณะที่เบอร์นันเก้เตือนว่าความล่าช้าในการอนุมัติแผนกู้วิกฤตการณ์ด้านการเงินจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น
ทั้งนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า "รัฐบาลควรเข้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินในราคาที่สูงกว่ามูลค่าตลาด เพื่อกระตุ้นสภาพคล่องของสถาบันการเงินในยามที่ตัวเลข GDP ของสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1.5% ในปีหน้า ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2544
"ตลาดการเงินเคลื่อนไหวเร็วมากๆ ในที่นี้หมายถึงเคลื่อนไหวทั้งในด้านดีและด้านลบ ดังนั้น เราจำเป็นต้องใช้มาตรการที่แข็งแกร่งเพื่อรับมือให้ทันท่วงที และผมก็สนับสนุนแผนการของรมว.คลังสหรัฐที่จะให้ใช้งบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์เข้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน" เบอร์นันเก้กล่าว
ขณะที่พอลสันกล่าวต่อสภาคองเกรสว่า "เราต้องใช้มาตรการที่รุดหน้าเร็วกว่าปัญหา มาตรการที่ผมเสนอไปนี้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานและเชื่อว่าจะแก้ไขต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ในระดับหนึ่ง"
อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้ยังระบุว่า เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะตลาดถดถอย กระทรวงการคลังไม่ควรเข้าซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินจำนวนมากเกินไป พร้อมกับเรียกร้องสภาคองเกรสให้หลีกเลี่ยงการซื้อสินทรัพย์ด้วยการระบุเงื่อนไขที่เข้มงวดเกินไปจนสถาบันการเงินไม่สามารถดำเนินการตามได้
นอกจากนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า "หากสภาคองเกรสประวิงเวลาในการอนุมัติแผนการช่วยเหลือสถาบันการเงิน ก็จะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐให้ถอถอยเร็วขึ้น และปัญหาในภาคการเงินก็จะแก้ยากขึ้นด้วย การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และปัญหาสภาพคล่องทีเกิดขึ้นกับบริษัท AIG ถือเป็นวิกฤตการณ์ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงิน ซึ่งเราไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีก"
อย่างไรก็ดี วุฒิสมาชิกคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งสภาคองเกรส สังกัดพรรคเดโมแครต กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังจากฟังแถลงการณ์ของเบอร์นันเก้ว่า "ผมยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนว่าข้อเสนอของพอลสันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม และผมไม่อาจบอกได้ว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติเรื่องนี้เร็วเท่าที่พอลสันและเบอร์นันเก้ต้องการหรือไม่"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความวิตกกังวลที่ว่าความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือภาคการเงินในสหรัฐ อาจทำให้การดำเนินการดังกล่าวล่าช้าออกไป เป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลง 161.52 จุด หรือ 1.47% ปิดที่ 10,854.17 จุด เมื่อคืนนี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--