REPORT: คลังกางโจทย์เล่มใหญ่รอพิสูจน์ฝีมือเจ้ากระทรวงคนใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 24, 2008 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          งานใหญ่วางรอการตัดสินใจของรมว.คลังคนใหม่มีเพียบ ทั้งปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ขยายฐานภาษี ขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจ็คต์ การประเมินและทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมออกมาตรการล็อตใหม่ ตัดสินใจนโยบายหวยออนไลน์ การขายหุ้น BT ให้พันธมิตรต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นเกินเพดาน การแต่งตั้งบอร์ดแบงก์ชาติชุดใหม่ และเดินหน้าแผนพัฒนาตลาดทุน
รมว.คลังคนใหม่ถูกจับตาความสามารถการทำงานที่หนักขึ้นเพื่อเร่งสะสางปัญหาที่คั่งค้างจากรัฐบาลชุดเก่าอีกหลายเรื่อง และบางเรื่องคงต้องคิดหนักเป็นพิเศษก่อนตัดสินใจ หลังจากงานของกระทรวงการคลังเดินหน้าไม่เต็มที่ในช่วงรัฐนาวาเดิมที่พลิกล่มไปพร้อมกับนายสมัคร สุนทรเวช ที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนเจ้ากระทรวงอย่างนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นอันต้องถอยไปจากเก้าอี้จากพิษหวยบนดิน ทำให้นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมช.คลังในรัฐบาลรักษาการ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พรรคสำรองอันดับหนึ่งของพลังประชาชน ก้าวขึ้นแท่นรับตำแหน่งสำคัญแทน ซึ่ง เป็นที่จับตาของผู้คนในวงการเศรษฐกิจและธุรกิจ เนื่องจากนายสุชาติมีบทบาทในฐานะนักวิชาการมาโดยตลอด และช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีแค่ 2 เดือนที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นผลงานโดดเด่นมากนัก
นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ยังมีหลายเรื่องที่เตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาโดยเร็ว ทั้งการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ
รวมทั้ง การขยายฐานภาษีใหม่เป็นแผนภาษีระยะ 5 ปี ซึ่งมีทั้งการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างภาษีของประเทศเพื่อนบ้าน และเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้ระดับล่างและกลางที่จะได้รับประโยชน์ , การปรับภาษีสรรพสามิต โดยเพิ่มอัตราภาษีสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้ากลุ่มอบายมุข ทั้งสุรา ยาสูบ และการขยายฐานภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ส่วนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) แม้ต้องทำควบคู่กัน แต่ช่วง 2 ปีนี้ รัฐบาลยังคงไว้ที่อัตรา 7% ต่อไปตามมติ ครม. ขณะเดียวกันการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย
นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า จะเสนอให้มีการทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นำออกมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลของมาตรการใช้ได้ผลดีหรือไม่ ซึ่งยอมรับว่าบางมาตรการอาจต้องทบทวนและยกเลิก พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นมาตรการระยะสั้นที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการดูแลกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ซบเซาลงหลังเกิดปัญหาการเมือง
รัฐบาลคงเดินหน้าต่อไปสำหรับการลงทุนเมกะโปรเจ็คต์ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงนี้ ซึ่งภายหลังจากเจบิคได้อนุมัติเงินกู้แก่ไทยใช้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงไปแล้ว ส่วนสายอื่นๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนงาน
ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า สบน.อยู่ระหว่างเจรจาเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิค)เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวงเงิน 80,000 ล้านบาท โดยมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเงินกู้จากเดิมมาเป็นกู้แบบมีเงื่อนไขที่หาผู้รับเหมาและซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จากญี่ปุ่นจะมีดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0.01% ซึ่งหากมีข้อสรุปคาดว่า รมว.คลังคนใหม่จะเซ็นสัญญาเงินกู้กับรัฐบาลญี่ปุ่นได้ในปลายปีนี้
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังต้องเตรียมแผนจัดหาแหล่งระดมเงินทุนเพื่อรองรับแผนการระดมเงินในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ทั้ง 5 ด้าน วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า งานที่ค้างอยู่และรอการอนุมัติจาก รมว.คลัง ยังมีอีกหลายเรื่อง ถึงเวลานี้คงเป็นเรื่องที่ รมว.คลังคนใหม่จะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการขยายเพดานการถือหุ้นต่างชาติเกิน 49% ในธนาคารไทยธนาคาร(BT) เพราะกองทุนฟื้นฟูฯ ได้เซ็นข้อตกลงการซื้อขายหุ้น BT ให้ CIMB กรุ๊ป จากมาเลเซีย โดยรอเพียงการอนุมัติเรื่องจาก รมว.คลังเท่านั้น
หากเรื่องยังช้าต่อไปข้อตกลงที่เซ็นไว้จะสิ้นสุดลงในเดือน พ.ย.51 ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องเปิดการเจรจาขายหุ้นรอบใหม่ ซึ่งหากเรื่องล่าช้าออกไปจากกำหนดเวลาเดิม ฐานะการเงินของ BT อาจจะยิ่งมีปัญหามากขึ้นได้
รวมถึงการทบทวนกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตามกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งกระบวนการสรรหาคณะกรรมการที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความโปร่งใส และมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ รมว.คลังคนใหม่ต้องตัดสินใจว่าจะรื้อกระบวนการสรรหาเดิมหรือเดินหน้าตามขั้นตอนต่อไป
การพัฒนาตลาดทุนตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างตลาดทุน และการออกมาตรการภาษีต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา เช่น การลดภาษีซ้ำซ้อนในตลาดตราสารหนี้ โดยยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขาย(Capital Gain Tax) การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายระยะยาว เช่น ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ เพื่อจัดเก็บภาษีจากการปล่อยน้ำเสียและมลพิษต่างๆ ที่ยังรอการพิจารณาและตัดสินใจของรมว.คลังคนใหม่ด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ