นักวิเคราะห์คาดแผนกู้วิกฤตการเงินสหรัฐหนุนยอดขาดดุลพุ่ง-กดดอลลาร์ดิ่ง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 24, 2008 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          แผนกู้วิกฤตการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของนายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐอาจสร้างแรงกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ยอดขาดดุลบัญชีจะปรับตัวสูงขึ้น
มาตรการของนายพอลสันที่เสนอซื้อหนี้เสียจากธนาคารจะทำให้ตัวเลขหนี้สินของรัฐบาลพุ่งขึ้นกว่า 70% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2497 โดยยอดขาดดุลบัญชีรายปีอาจพุ่งสูงสุดแตะที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นระดับที่บริษัทหลักทรัพย์ทีดี ซีเคียวริตี้ คาดว่าจะทำให้เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ 1.95 ยูโรต่อดอลลาร์ โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.6038 ยูโรต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ชาร์ท ออฟ เดอะ เดย์ ของบลูมเบิร์ก ได้แสดงข้อมูลเปรียบเทียบยอดเกินดุลบัญชีและยอดขาดดุลบัญชีสหรัฐโดยใช้มูลค่าของเงินดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินหลักที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ซึ่งพบว่าดัชนีเงินดอลลาร์ร่วงลง 28% นับตั้งแต่สิ้นปี 2543 เป็นต้นมา เนื่องจากดุลบัญชีได้เปลี่ยนไปจากที่เคยเกินดุลอยู่ 2.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นบัญชีขาดดุลที่ 4.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินดอลลาร์แกว่งตัวผันผวนตามยอดขาดดุลการค้าเนื่องจากสหรัฐขาดเงินที่จะใช้ในการลงทุน ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องหันหน้าไปพึ่งยอดขายพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ
"ภาวะเช่นนี้ถือเป็นการสร้างความตื่นตระหนกอย่างรุนแรงต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากจะทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในตลาดพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างมหาศาล" โจซัว วิลเลียมซัน นักวิเคราะห์จากทีดี ซีเคียวริตี้กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ