จีนต้องเดินหน้ากอบกู้ชื่อเสียงของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุอื้อฉาวในอุตสาหกรรมนม เนื่องจากมีการลักลอบใส่สารเมลามีนลงในนมผงสูตรเลี้ยงเด็กทารก และผลิตภัณฑ์นมประเภทอื่นๆ จนทำให้เด็กทารกในจีนเสียชีวิตไปแล้ว 4 คน และป่วยอีกกว่า 50,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ล้มป่วยลงด้วยโรคนิ่วในไต
สารเมลามีน เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติคและเครื่องหนัง แต่กลับถูกซัพพลายเออร์นมและบริษัทนมบางรายใส่ลงไปในนมผงสำหรับเด็กทารก เพราะต้องการให้ผลิตภัณฑ์นมของบริษัทดูเหมือนว่ามีระดับโปรตีนในนมสูงกว่าปกติ
บริษัท ซานลู่ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ประเภทนมรายใหญ่ของจีน ตกเป็นจำเลยในกรณีอื้อฉาวนี้ไปเต็มๆ เนื่องจากบริษัทเองรับทราบรายงานว่ามีเด็กป่วยเพราะดื่มนมของบริษัทมาตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว และบริษัทได้สั่งให้มีการตรวจสอบและทดสอบเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาและพบว่า มีการเติมสารเมลามีนเข้าไปในนมจริง แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา จนกระทั่งเรื่องมาแดงอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้เที่เด็กทารกในจีนเสียชีวิต และล้มป่วยลงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
ก่อนหน้านี้ อาหารสัตว์เลี้ยงประเภทแมวและสุนัขของจีนเองก็เคยตกเป็นข่าวดังไปเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากมีการผสมสารเมลามีนลงไป ส่งผลให้สุนัขและแมวในสหรัฐหลายพันตัวต้องล้มตายลง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพชี้การบริโภคสารเมลามีนเข้าไปจะทำให้เกิดอาการหลายอย่าง อาทิ โรคนิ่วในไต อาการระคายเคืองที่ดวงตาและผิวหนัง อีกทั้งยังทำให้เด็กที่บริโภคเข้าไปเป็นโรคขาดสารอาหารอีกด้วย
นอกจากนมผงสูตรเลี้ยงเด็กทารกแล้ว ผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตของบริษัทนมชั้นนำของจีนอย่าง ไชน่า เหมิงหนิว แดรี่, บริษัท อินเนอร์ มองโกเลีย หยีลี่ อินดัสเทรียล กรุ๊ป และไบรท์ แดรี่ แอนด์ ฟูด ก็พบว่า มีสารเมลามีนปนเปื้อนเช่นกัน
นานาประเทศสั่งห้ามนำเข้าและขายผลิตภัณฑ์นมจากจีน
ข่าวที่เกิดขึ้นทำให้ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ต่างผวากับผลิตภัณฑ์นมจากจีน พร้อมออกมาตรการ เพื่อปกป้องประชาชนจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนสารเคมี โดยสั่งห้ามนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ที่มีนมจากจีนเป็นส่วนประกอบแล้ว และยังได้ตรวจสอบสารประกอบในผลิตภัณฑ์ประเภทนมที่นำเข้าจากจีนอย่างเข้มงวดด้วย
สิงคโปร์ได้สั่งห้ามจำหน่ายนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมดจากจีนตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนเป็นต้นมา ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ถูกสั่งห้าม ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะนม ไอศครีม และโยเกิร์ตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกกวาดและขนมหวานอื่นๆ เช่น ช็อคโกแลต บิสกิต และขนมหวานที่ผลิตในจีนอีกด้วย นอกจากนี้ ทางการยังได้เตือนผู้บริโภคไม่ให้รับประทานนมและผลิตภัณฑ์นมจากจีน
เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) เองก็ได้สั่งการให้ด่านอย.ตามจังหวัดชายแดน ระงับการนำเข้าลูกอม ตรากระต่ายขาวจากประเทศจีน และแนะให้ประชาชนงดรับประทานลูกอมชนิดดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าผลการตรวจสอบจะออกมาอย่างเป็นทางการโดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
จีนเร่งแก้ปัญหา หวั่นกระทบอุตสาหกรรมนมของประเทศ
การตรวจพบสารเมลามีนในนมผงยี่ห้อซานลู่และอื่นๆ ส่งผลให้สำนักงานควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรค (AQSIQ) ตัดสินใจขยายผลด้วยการตรวจหาสารปนเปื้อนในนมผงยี่ห้ออื่น ซึ่งผลปรากฏว่าพบสารปนเปื้อนในนมผง 69 ยี่ห้อจาก 22 บริษัท จากการสุ่มตรวจทั้งหมด 491 ยี่ห้อจาก 109 บริษัท และได้สั่งให้ทำลายนมผงปนเปื้อนในทันที
จนถึงตอนนี้มีผู้ต้องสงสัยรวม 18 รายที่ถูกจับกุมตัว โดย 6 รายถูกตั้งข้อหาว่าขายสารเมลามีน ส่วนอีก 12 รายเป็นพ่อค้านายหน้าที่ต้องสงสัยว่าขายนมปนเปื้อนให้ซานลู่
ทางด้านกระทรวงเกษตรจีนเตรียมยกเครื่องอุตสาหกรรมนมในประเทศ โดยกำหนดให้ผู้รีดนมวัวทั่วประเทศต้องลงทะเบียนกับทางกระทรวงเกษตร นอกจากนั้นการตรวจสอบนมสดยังต้องมีความเข้มงวดกว่าเดิม ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นความพยายามล่าสุดในการลดข้อครหาที่ว่ารัฐบาลจีนไม่สามารถทำให้ทั่วโลกเชื่อมั่นว่าอาหารจากจีนมีความปลอดภัยได้
นอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ยังสั่งการให้รัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มการควบคุมและตรวจสอบผลิตภัณฑ์นมสดและสินค้าผู้บริโภคสำหรับการส่งออก เนื่องจากหลายประเทศเริ่มนำอาหารที่ผลิตในจีนลงจากชั้นวางเพราะกลัวว่าอาจมีการปนเปื้อน
ผอ.องค์การอนามัยโลกห่วงเหตุนมเปื้อน ชี้นมแม่ดีที่สุด
นางมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุอื้อฉาวครั้งนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการให้นมแม่ บรรดาแม่ๆในแถบเอเชียให้นมลูกน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยยอดขายปลีกนมผงสูตรสำหรับเด็กทารกในแถบเอเชียปีนี้ดีดขึ้น 19% โดยเฉพาะในจีนที่ยอดขายพุ่งถึง 29%
อย่างในประเทศฟิลิปปินส์นั้น มีการซื้อนมผงถึง 465 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เด็กทารกที่ดื่มนมแม่นั้นมีอัตราลดลง จากเดิมที่เมื่อปี 2541 ที่เด็กทารก 1 ใน 5 จะเป็นเด็กที่ดื่มนมแม่ แต่ต่อมาเมื่อปี 2546 สัดส่วนเด็กทารกที่ดื่มนมแม่นั้นลดลงเหลือ 1 ใน 6 คนดื่มนมแม่นาน 5 เดือน
ผอ.องค์การอนามัยโลกถึงกับบ่นออกมาว่า เธอไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ๆสมัยนี้ถึงให้นมลูกกันน้อยลง ทั้งที่นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กทารก
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกระบุว่า การให้นมเด็กทารกที่ไม่เหมาะสม อาทิ การใช้นมผง เป็นสาเหตุที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของเด็กเล็กด้วยเช่นกัน
แม้ว่าบริษัทนมของจีนจะได้ออกมาขอโทษขอโพยประชาชนและเรียกคืนสินค้า แต่คงอีกนานกว่าที่นานาประเทศจะกลับมาไว้วางใจผลิตภัณฑ์ประเภทนมจากจีน งานนี้เรียกได้ว่า เจ็บนี้อีกนาน เพราะเหยื่อความโลภของการกระทำครั้งนี้ไม่ได้เกิดกับคนอื่นคนไกล แต่เป็นเด็กทารกที่เกิดในแผ่นดินของจีนเอง
--อินโฟเควสท์ โดย สุนิตา พรรณรักษา/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--