"เบอร์นันเก้"เตือนสหรัฐเผชิญภัยคุกคามเศรษฐกิจรุนแรง จี้คองเกรสเร่งผ่านมาตรการพยุงภาคการเงิน

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 25, 2008 09:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงมุมมองทางเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายเศรษฐกิจแห่งสภาคองเกรส โดยเตือนว่าสหรัฐกำลังเผชิญ "ภัยคุกคามเศรษฐกิจที่เข้าขั้นรุนแรง" ซึ่งจะบั่นทอนเสถียรภาพทางการเงิน และเตือนว่าวิกฤตการณ์สินเชื่อเริ่มส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเอกชน
"กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงในวงกว้าง เสถียรภาพในระบบการเงินของสหรัฐกำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะชะลอตัวลง" เบอร์นันเก้กล่าว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เบอร์นันเก้แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญวิกฤตการณ์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานเฟดในปีพ.ศ.2549
ในการแถลงมุมมองเศรษฐกิจวันที่ 2 ซึ่งมีขึ้นเมื่อคืนนี้ที่สภาคองเกรส เบอร์นันเกยังคงเรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งผ่านร่างมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านบาท พร้อมกับเตือนว่าหากการอนุมัติล่าช้าออกไปจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ
"หากเราไม่เร่งใช้มาตรการแก้ไขวิกฤตสินเชื่อ กลุ่มเจ้าของบ้านและธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไป จะได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า สิ่งที่เราจะได้เห็นคือผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะเป็นเหตุให้เศรษฐกิจทั้งระบบชะงักงัน ผมประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญขาลง" เบอร์นันเก้กล่าว
เบอร์นันเก้ยังกล่าวด้วยว่า "ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงเนื่องจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดการจับจ่ายใช้นอย นอกจากนี้ ราคาบ้านที่ตกต่ำลงยิ่งฉุดรั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ถดถอยลงเรื่อยๆ และสร้างแรงกดดันต่องบดุลของสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันผมคาดว่าตัวเลขการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรและซอฟท์แวร์ จะชะลอตัวลง ซึ่งจะยิ่งสกัดกั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและภาคส่างออก"
ส่วนสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อนั้น เบอร์นันเก้คาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) จะขยายตัวขึ้น 5.4% ในรอบปีซึ่งสิ้นสุด ณ เดือนส.ค. ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับสูงและเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
"ท้ายที่สุด ผมยังยืนยันว่าสภาคองเกรสควรเร่งผ่านร่างมาตรการมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์เพื่อที่รัฐบาลและเฟดจะสามารถช่วยเหลือสถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงการรับซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน เพื่อลดผลกระทบในภาคการเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้" เบอร์นันเก้กล่าว
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสภาคองเกรส รวมถึงวุฒิสมาชิกพอล แคนจอร์สกี้ สังกัดพรรคเดโมแครต กล่าวว่า "ประชาชนผู้เสียภาษีไม่ต้องการให้นำเงินไปพยุงสถานการณ์ของบริษัทปล่อยกู้จำนองและสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ เพราะมองว่าสถาบันการเงินเหล่านี้ควรมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น เราควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เสียภาษีมากกว่าที่จะนำเงินไปอุ้มกลุ่มทุนนิยม หรือพวก cowboy capitalists" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ