นักธุรกิจและเอกชนออกมาแสดงความความเห็นหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่ โดยฝากความหวังให้ตั้งใจทำงาน เร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาโดยเร็ว พร้อมทวงสัญญานายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ และให้กำลังใจ แม้บางตำแหน่งอาจไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ยังให้โอกาสทำงานกู้วิกฤตชาติ
นายประยุทธ มหากิจศิริ นักธุรกิจ เปิดเผยว่า ครม.ชุดนี้ถือว่าดีที่สุดเท่าที่สามารถจัดหาได้ เพราะการตั้ง ครม.มีขีดจำกัดพอสมควร ซึ่งดูแล้วคณะรัฐมนตรีชุดนี้ดีมากเท่าที่จะจัดได้
"ถือว่าสอบผ่าน 80% มันไม่มีทางที่จะได้สมบูรณ์ทั้ง 100% หรอก เพราะฉะนั้น ผมขอให้กำลังใจคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พวกเราก็ต้องคอยความหวังถึงความสมานสามัคคีของผู้บริหารประเทศ และของประชาชนทั่วประเทศ ขอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่ คิดถึงสิ่งที่จะสร้างสรรค์ต่อประเทศชาติเป็นหลัก เพราะประชาชนทุกคนคอยความหวังนี้อยู่"นายประยุทธ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ส่วนวาระการทำงานของ ครม.ชุดใหม่จะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้นานแค่ไหนนั้น นายประยุทธ กล่าวว่า ทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จ ครม.ชุดนี้อาจจะอยู่สั้นหรืออยู่ยาวขึ้นอยู่กับสถานการณ์และองค์ประกอบหลายๆ ด้าน เพียงแต่หวังว่าคงจะสร้างสรรค์ให้ประเทศชาติดีขึ้น แต่จะเป็นยังไงก็แล้วแต่ต้องรอดู และให้โอกาสทำงานก่อน
*ภาคธุรกิจก่อสร้างตั้งความหวังรัฐบาลเร่งเดินหน้าเมกะโปรเจ็คต์
นายณรงค์ ทัศนนิพันธ์ บมจ.ซีฟโก้(SEAFCO)กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงคมนาคมซึ่งทราบว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ ได้กลับเข้ามาทำงานเป็น รมว.คมนาคม อีกวาระหนึ่ง เชื่อว่าจะเข้ามาสานงานต่างๆ ให้เดินหน้าต่อเนื่องไปได้
"เชื่อว่ารัฐมนตรีคนเดิมก็คงจะบริหารงานต่อเนื่องไปได้ โดยเฉพาะงานเมกะโปรเจ็คต์ก็คงจะพยายามผลักดันให้ออกมา ในส่วนของงานภาครัฐมีงบประมาณตายตัวอยู่แล้ว แต่ในส่วนของเอกชนเองก็ต้องฝากความหวังไว้ที่รัฐมนตรีที่ดูแลงานทางด้านเศรษฐกิจด้วย ต้องเร่งแก้ปัญหา ผลักดัน และเรียกความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร็ว"นายณรงค์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
รวมทั้ง นายกรัฐมนตรียังมีภารกิจหลัก คือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ เพราะว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับภาวะเศรษฐกิจโดยตรง ด้วยความจริงใจ ด้วยความที่นายกรัฐมนตรีมีบุคลิกประนีประนอมอยู่แล้ว ยิ่งถ้าดำเนินการได้ตามที่แสดงออกไว้ตั้งแต่แรกก็คิดว่าภาพรวมก็น่าจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูว่านายกรัฐมนตรีจะบริหารจัดการรัฐบาลอย่างไร แม้รัฐมนตรีบางตำแหน่งอาจจะไม่ถูกใจหลายๆ ฝ่าย ซึ่งคาดว่า ครม.ชุดนี้ไม่น่าจะอยู่จนครบวาระ เพราะอาจต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้อยู่ครบวาระไม่ได้ เพียงแต่จะอยู่ได้ยาวนานเท่าไหร่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
*วงการแพทย์ผิดหวัง"เหลิม"นั่งเจ้ากระทรวง จับตาผลงาน
ปิดท้ายด้วยแหล่งข่าวในวงการสาธารณสุข เปิดเผยว่า รู้สึกผิดหวังเล็กน้อยสำหรับบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข(ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) เพราะดูแล้วไม่น่าจะมีความรู้ด้านสาธารณสุข
"เท่าที่ได้คุยกันในวงการแพทย์ต่างมองว่าอาจจะเป็นเรื่องกลยุทธ์ในการควบคุมฐานเสียง เพราะต่างจังหวัดพวกสาธารณสุขจะมีอิทธิพลพอสมควร"แหล่งข่าว กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ไม่กล้าประมาทฝีมือ เพราะอาจจะทำงานเก่งเหนือความคาดหมายก็ได้ และขึ้นอยู่กับข้าราชการประจำด้วยว่าจะให้ข้อมูลหรือช่วยสนับสนุนการตัดสินใจได้มากน้อยแค่ไหน
"คงต้องให้โอกาสท่านพิสูจน์ฝีมือก่อน แต่ ครม.ชุดนี้ไม่น่าไปไกล เพราะปัจจัยทั้งภายนอกและภายในยังเยอะ อีกทั้งส่วนตัวเห็นว่าไม่มีนักคิดอยู่ใน ครม.เพราะคิดว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงวิกฤต จำเป็นต้องมีนักคิดที่คิดอะไรแปลกๆ ออกไปเลย" แหล่งข่าว กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
แหล่งข่าวคนเดิม ยังแสดงความเห็นว่า ธุรกิจโรงพยาบาลในขณะนี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ โรงพยาบาลไหนที่มีการลงทุนมากๆ ก็อันตราย เพราะมี Operating Cost สูงพอสมควร
อีกทั้งธุรกิจโรงพยาบาลยังมีความขัดแย้งหลายอย่าง อาทิ การชูนโยบายส่งเสริมไทยเป็น Medical Hub ขณะเดียวกันก็ออกกฎกติกาควบคุมโรงพยาบาลเอกชนหลายอย่างที่เป็นการกีดกันการทำประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้เรื่อง พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ที่มีการประกาศใช้แล้ว แต่ก็มีปัญหาการควบคุมการซื้อเครื่องมือแพทย์พอสมควร ทำให้บริษัทเครื่องมือแพทย์ได้รับผลกระทบอย่างมาก การจัดซื้อยาก็มีปัญหา
"เหมือนอยากจะทำให้เป็นการค้าเสรี แต่ขณะเดียวกันก็มาควบคุมเหมือนสังคมนิยม มันไปด้วยกันไม่ได้หรอก...ถามว่าวงการสาธารณสุขไทยยังไปได้มั้ย ก็ยังไปได้ แต่มองว่าทุกวันนี้วงการสาธรณสุขบ้านเราถ้าเทียบกับมาเลเซีย สิงคโปร์ แทบจะเรียกได้ว่าเราถอยหลัง ประเทศเหล่านั้นทำได้ดีกว่าเรา ของเรามีการแย่งงบประมาณไปจากกระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก 10 ปี ประเทศที่ล้าหลังกว่าเรา อย่างลาว หรือ พม่าอาจจะแซงหน้าเราก็ได้" แหล่งข่าว กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
แหล่งข่าว กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ เลิกมองโรงพยาบาลเอกชนเป็นศัตรู เลิกออกกฎ กติกาที่เป็นการปิดกั้นเอกชน
"รัฐบาลไม่ต้องมาสนับสนุนหรือช่วยเหลือภาคเอกชน เพียงแต่อย่ากีดขวางเท่านั้นก็พอแล้ว เพราะทุกวันนี้เอกชนสามารถโตได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว" แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--