สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(สร.กทพ.)กว่า 300 คนแต่งชุดดำออกมารวมตัวขับไล่ให้คณะกรรมการ กทพ.ลาออกทั้งคณะที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าหมดความชอบธรรมที่อนุมัติให้ขยายเวลาจ่ายส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางให้ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ(BECL)กว่า 8 ปีหลังหมดสัญญา คิดเป็นเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ประธานคณะกรรมการ กทพ.อ้างเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่มีผลเพราะเหลือขั้นตอนอีกมาก
นายศราวุธ ศรีพยัคฆ์ ประธาน สร.กทพ.กล่าวว่า การอนุมัติเรื่องนี้เป็นไปอย่างเร่งรีบและไม่โปร่งใสจึงถือว่าคณะกรรมการชุดปัจจุบันหมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งแล้ว และ สร.กทพ.อยู่ระหว่างการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว หลัง ครม.มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับ BECL ตามผลการเจรจาของคณะอนุกรรมการฯ และจะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทบทวนมติ ครม.ดังกล่าวต่อไป
นอกจากนี้ สร.กทพ.ยังทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.)เพื่อขอให้ชะลอการตรวจร่างสัญญาไว้ก่อน หลังจากที่ ครม.มีมติให้ กทพ.ส่งรายละเอียด พร้อมร่างสัญญาเพิ่มเติมให้ อสส.ตรวจพิจารณาก่อนเสนอ ครม.และก่อนหน้านี้ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว
ขณะที่ นายสุรชัย ธารสิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ กทพ.กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการฯ มีมติให้ขยายเวลาจ่ายส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางให้ BECL ต่อไปอีก 8 ปี 10.8 เดือน หลังครบอายุสัมปทานในปี 2563 คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ กทพ.ทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อขอความชัดเจนถึงขั้นตอนการดำเนินการต่อไปหลัง ครม.มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับ BECL เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนกรณีที่คณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งและข้อพิพาท ซึ่งมี พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เป็นประธาน ได้หารือกับ BECL และได้ข้อสรุปว่าจะชดเชยรายได้ให้ BECL 70% ของผลต่างรายได้ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2541 จนถึงวันที่ 29 ก.พ.2563 คิดเป็นเงิน 18,086 ล้านบาท โดยให้สิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้หลังสิ้นสุดสัญญาเป็นเวลา 8 ปี 10.8 เดือนนั้น เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นที่ได้จากการเจรจา
"ยังไม่ได้เป็นข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินการตามข้อเสนอ และที่ผ่านมาคณะกรรมการการทางพิเศษฯ เพียงแค่เห็นชอบในหลักการเท่านั้น" นายสุรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่าเพื่อให้การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับ BECL เป็นไปอย่างรอบคอบ และมีความเข้าใจตรงกัน จึงเสนอให้ผู้แทน สร.กทพ.ร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งและข้อพิพาทด้วย หากผู้แทน สร.กทพ.มีข้อคิดเห็นที่ดีเป็นประโยชน์ก็สามารถเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯได้ เพราะขณะนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น ยังไม่มีผลผูกพันใดๆกับ BECL
การที่ สร.กทพ.ตั้งข้อสังเกตว่าควรรอผลการตัดสินของศาลฏีกาก่อนนั้น นายสุรชัย ยืนยันว่า คณะกรรมการฯ ไม่เคยคิดว่าจะแพ้คดีข้อพิพาทปัญหาค่าผ่านทาง แม้ กทพ.จะแพ้คดีในศาลชั้นต้นมาแล้ว และถ้าศาลฏีกาตัดสินให้แพ้อีกเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อ กทพ. และประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน หากกล้าเจรจากับ BECL แล้วเกิดผลดีก็ควรเจรจา
ส่วนกรณีที่ สร.กทพ.ระบุว่า ขั้นตอนการอนุมัติเป็นไปอย่างเร่งรีบ โดยคณะกรรมการ กทพ.อนุมัติเมื่อวันที่ 5 ก.ย.51 และเสนอให้ ครม.อนุมัติในวันที่ 9 ก.ย.นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า ตนเองไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะเลยขั้นตอนของคณะกรรมการฯ ไปแล้ว
นายสุรชัย ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้มีสปิริต แต่หากลาออกในขณะนี้จะเป็นการทิ้งปัญหาไว้เหมือนขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ คณะกรรมการ กทพ.ต้องการชี้แจงข้อมูลต่อพนักงานและ สร.กทพ.ให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับ BECL เพราะที่ผ่านมายังไม่มีโอกาสชี้แจง
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การชุมนุมของ สร.กทพ.เกิดจากการปลุกปั่นของคนในองค์กรที่เสียผลประโยชน์ หลังจากไม่ได้รับตำแหน่งใน กทพ.
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ามติ ครม.เมื่อวันที่ 9 ก.ย. เป็นการอนุมัติในหลักการแก้ปัญหาข้อพิพาทเท่านั้น ยังไม่มีการเซ็นสัญญาเพื่อขยายเวลาจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ BECL เพราะต้องให้ อสส.พิจารณาอีกครั้งว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ทั้งในแง่สัญญาและข้อกฎหมาย และเมื่อได้ข้อสรุปที่แน่นอน จะต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
"ขอยืนยันว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชน โดยที่การทางพิเศษฯไม่เสียหาย" นายสันติ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--