สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์จะผ่านมติในที่ประชุมสภาคองเกรส หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐมีความเห็นชอบร่วมกันที่จะผลักดันมาตรการดังกล่าวให้ผ่านการอนุมัติจากคองเกรส
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 106.39 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพุธที่ 106.26 เยน/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินฟรังค์ที่ 1.0892 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0914 ฟรังค์/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.4623 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพุธที่ 1.4611 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.8394 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.8462 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.6829 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับของวันพุธที่ 0.6819 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 0.8363 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8329 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ นิวยอร์ก กล่าวว่า ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์จะผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส หลังจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช, นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง และนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ได้ร่วมผลักดันให้ร่างแผนการดังกล่าวผ่านมติสภาคองเกรส
โดยเบอร์นันเก้และพอลสัน เตือนว่า ความล่าช้าในการอนุมัตแผนการดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเงินและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่ประธานาธิบดีบุช เตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาวและจะทำให้มีผู้ตกงานเป็นจำนวนมาก หากสภาคองเกรสไม่เร่งผ่านนโยบายกู้วิกฤตการเงินมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค.ร่วงลง 11.5% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปีที่ 460,000 ยูนิต นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ขอเข้ารับสวัสดิการระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ที่แล้วพุ่งขึ้น 32,000 ราย แตะระดับ 493,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจหลายแห่งในรัฐหลุยเซียนาและเท็กซัสที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคนไอค์และเฮอริเคนกุสตาฟ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--