แผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐส่อเค้าชะงัก หลังสมาชิกรีพับลิกันเสนอทางเลือกอื่น

ข่าวต่างประเทศ Friday September 26, 2008 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          การเจรจาเพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเริ่มชะงักงัน หลังจากสมาชิกสภาคองเกรสบางคนเสนอทางเลือกอื่น เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์การเงินภายในประเทศ ซึ่งนำโดยนายอิริก แคนเตอร์ สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกัน
คริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวว่า ในเบื้องต้นนั้นวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่แผนการดังกล่าวอาจไม่ราบรื่นเมื่อสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกของรีพับลิกันเหล่านี้มีนายอิริก แคนเตอร์ เป็นผู้นำทีม
"หากเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง สนับสนุนข้อเสนอของแคนเตอร์ การเจรจาก็จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด โดยการเจรจาเรื่องดังกล่าวจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในคืนนี้ ทางเลือกที่แคนเตอร์นำเสนอในสภาก็คือการใช้เงินจากกองทุนประกันหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) มาใช้กู้วิกฤตการณ์ในภาคการเงิน แทนที่จะใช้เงินภาษีราษฎรมาซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน" ด็อดด์กล่าวกับผู้สื่อข่าว
นอกจากนี้ สมาชิกพรรครีพับลิกันกลุ่มนี้ยังเรียกร้องให้ใช้ "นโยบายผ่อนปรนภาษีชั่วคราว" เพื่อเปิดทางให้สถาบันการเงินเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและมีเสรีภาพในการระดมทุน พร้อมกับแนะนำให้สถาบันการเงินระงับการจ่ายเงินปันผลไว้ชั่วคราว ควบคู่ไปกับการใช้แผนอื่นๆที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง
ทั้งนี้ แคนเตอร์กล่าวว่า "ข้อเสนอของเรามุ่งเน้นหลักการที่ว่า เราจะไม่ละทิ้งชาวอเมริกันผู้เสียภาษี และให้สถาบันการเงินในวอลล์สตรีทมีส่วนรับผิดชอบในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีส่วนในการ "เฉือนเนื้อตัวเองบ้าง" เพื่อให้สภาวะโดยรวมฟื้นตัวขึ้น" ขณะที่ เจ๊บ เฮนซาร์ลิง วุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัสกล่าวว่า "เราไม่ควรใช้แผนของรมว.พอลสัน"
คริสโตเฟอร์ ด็อดด์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNN ว่า "ข้อเสนอของสมาชิกรีพับลิกันกลุ่มนี้กำลังบีบให้การเจรจาในสภาคองเกรสต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่หมด และตั้งข้อสังเกตว่าการประชุมที่ทำเนียบขาวนานถึง 2 ชั่วโมงครั้งนี้ดูเหมือนเป็นการวางแผนกู้วิกฤตเพื่อจอห์น แมคเคนโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้งานของเราต้องล่าช้าออกไป"
ขณะที่บารัค โอบามา กล่าวกับ CNN ว่า "การเจรจาครั้งนี้หวังผลทางการเมือง เมื่อคุณใส่มิติเรื่องการเมืองเข้าไปในการเจรจา ผลของการเจรจาจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าที่จะเกิดประโยชน์" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ