ริชาร์ด ฟิสเชอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ต้องใช้งบประมาณมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดให้การสนับสนุน โดยฟิสเชอร์กล่าวว่า แผนการดังกล่าวจะยิ่งทำให้รัฐบาลสหรัฐมีตัวเลขขาดดุลงบประมาณมากขึ้น
"แผนฟื้นฟูภาคการเงินซึ่งนายเฮนนี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐเสนอนั้น มีเป้าหมายที่จะนำเงินภาษีราษฎรไปซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน ซึ่งการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้แย่ลงไปอีก" ฟิสเชอร์กล่าว
การแสดงความคิดเห็นของฟิสเชอร์มีขึ้นในช่วงเวลาที่เฟดเข้าไปมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลมากขึ้นในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในตลาด โดยล่าสุดเบอร์นันเก้ได้ออกมาเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินซึ่งเสนอโดยรมว.พอลสัน ทั้งนี้ เฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหาในภาคการเงิน นับตั้งแต่การตรึงอัตราดอกเบี้ย อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน ทำข้อตกลงสว็อปค่าเงินร่วมกับธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก และเข้าเทคโอเวอร์กิจการบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG)
ทั้งนี้ ฟิสเชอร์กล่าวว่า "การตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% เป็นแนวทางที่ถูกต้องในยามที่เศรษฐกิจเผชิญวิกฤตการณ์เช่นนี้ และผู้ว่าการเฟดส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการเทคโอเวอร์กิจการ AIG แต่การเข้าแทรกแซงตลาดการเงินจนถึงขนาดต้องใช้งบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์เข้าอุ้มสถาบันการเงินเป็นประเด็นที่ผมกังวลใจมาก เพราะจะทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลพุ่งสูงขึ้นอีก"
ก่อนหน้านี้ คณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แห่งสหรัฐ คาดการณ์ว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.82 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงและการที่รัฐบาลนำเงินไปใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นรายจ่ายภาคครัวเรือน เพื่อยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยรุนแรง
นางดานา เพริโน โฆษกทำเนียบขาวไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับยอดขาดดุลงบประมาณในครั้งนี้ แต่เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทำเนียบขาวและฝ่ายนิติบัญญัติทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--