ค่าเงินดอลลาร์สหรัเคลื่อนตัวผันผวนอย่างหนักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 ก.ย.) โดยดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ปอนด์ และฟรังค์สวิส แต่ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ของสหรัฐ นอกจากนี้ ข่าวการล้มละลายของบริษัทวอชิงตัน มูชวล ยังส่งผลให้นักลงทุนลังเลที่จะเข้าซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตรา
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงิเยนที่ระดับ 106.12 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 106.41 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.8423 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.8381 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.4617 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.4621 ดอลลาร์/ยูโร ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.8304 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8350 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.6851 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6816 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
ไบรอัน โดแลน นักวิเคราะห์จาก Forex.com. กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันอย่างหนักหลังจากมีรายงานว่า เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อทรัพย์สินของวอชิงตัน มูชวล สถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหรัฐ หลังจากวอชิงตัน มูชวล เผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินจนบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ต้องเข้ายึดกิจการบริษัท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการล้มละลายครั้งใหญ่เท่าที่เกิดขึ้นในแวดวงธนาคารของสหรัฐ
ภายใต้ข้อตกลงการเทคโอเวอร์กิจการ เจพีมอร์แกนจะรับผิดชอบบัญชีเงินฝากสินทรัพย์ และหนี้บางส่วนของวอชิงตัน มูชวลซึ่งมีฐานการดำเนินงานในกรุงวอชิงตัน โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ในวงกว้างว่า FDIC จะเข้ายึดกิจการวอชิงตัน มูชวล หลังจากบริษัทขาดทุนอย่างหนักในตลาดปล่อยกู้จำนอง และหลังจากราคาหุ้นวอชิงตัน มูชวล ทรุดฮวบลง 95% อีกทั้งยังถูกสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ปรับลดอันดับเครดิต
โดแลนกล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเรื่องแผนฟื้นฟูภาคการเงิน หลังจากคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์อาจชะงักงันเนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กระแสความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเมื่อริชาร์ด ฟิสเชอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส แสดงความเห็นว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมีเป้าหมายที่จะนำเงินภาษีราษฎรไปซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน ซึ่งการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--