ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแสดงความเห็นว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่คณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แห่งสหรัฐยื่นขอการอนุมัติจากสภาคองเกรสนั้น จะเปิดทางให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีสิทธิอำนาจมากขึ้นในการจัดการกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น
มาร์วิน กู๊ดเฟรนด์ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายของเฟดซึ่งปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ในเมืองพิทส์เบิร์ก กล่าวว่า หากแผนฟื้นฟูดังกล่าวผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรสและวุฒิสภาสหรัฐ ก็จะทำให้เฟดมีสิทธิอำนาจในการจ่ายดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินที่นำเงินทุนสำรองสภาพคล่องมาฝากไว้กับเฟด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะกระตุ้นให้สถาบันการเงินนำเงินมาฝากไว้เป็นจำนวนมากเพื่อหวังผลดอกเบี้ยตอบแทน มากกว่าที่จะรอให้เฟดอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน
"แผนฟื้นฟูสภาพคล่องอาจทำให้เกิดผลดีตามมา การที่เฟดมีสิทธิอำนาจในการจ่ายดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินที่นำเงินทุนสำรองสภาพคล่องมาฝากไว้กับเฟด จะช่วยให้เฟดดำเนินนโยบายด้านการเงินได้อย่างเป็นอิสระ และถือเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินแบบทางอ้อม" กู๊ดเฟรนด์กล่าว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แห่งสหรัฐ และผู้นำในสภาคองเกรส ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า7 แสนล้านดอลลาร์แล้ว โดยคาดว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติแผนการดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันนี้ และจากนั้นจะส่งให้วุฒิสภาลงมติรับรองในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้
หากแผนการดังกล่าวผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการทั้งจากสภาคองเกรสและวุฒิสภา ก็จะเปิดทางให้คณะทำงานของประธานาธิบดีบุชนำเงินงบประมาณมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ไปใช้ตามแผนฟื้นฟูภาคการเงิน ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินที่ประสบวิกฤติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนที่เหลือจะนำไปซื้อหนี้เสียของธนาคารอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดเงินขาดสภาพคล่องรุนแรง
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--