นักวิเคราะห์คาดนายกฯญี่ปุ่น-อังกฤษฟื้นศก.ช่วยหนุน"บุช"แก้วิกฤตการเงินอีกแรง

ข่าวต่างประเทศ Monday September 29, 2008 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักเศรษฐศาสตร์มองว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและอังกฤษซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง จะใช้มาตรการเพื่อดึงคะแนนเสียงของตนเองคืนมาด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และในท้ายที่สุดแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและอังกฤษก็จะช่วยให้การกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตสินเชื่อของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐ ได้รับปัจจัยหนุนด้วยอีกทาง
นายทาโร่ อาโสะ นายกฯคนใหม่ของญี่ปุ่นที่จำเป็นต้องนำพาพรรคคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรัฐสภาให้ได้ในช่วงต้นเดือนหน้านั้น มีแนวโน้มว่าจะให้คำมั่นเรื่องการลดภาษี และใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะถดถอย ทางด้านนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งต้องเผชิญกับมรสุมภายในพรรคและคะแนนนิยมที่ร่วงลง อาจจะเลือกใช้มาตการกระตุ้นงบประมาณ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 90
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นข่างดีสำหรับประธานาธิบดีบุชและนายเบน เบอร์นานเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐต้องพึ่งพอการส่งออกเพื่อกระตุ้นการขยายตัว ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐ ซึ่งขยายตัว 2.8% ต่อปีในไตรมาส 2 อาจจะปรับตัวลดลงอีก หากว่า ไม่ได้รับปัจจัยหนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลประเทศต่างๆ
บลูมเบิร์กรายงานว่า ไซมอน จอห์นสัน อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยทั่วโลก แต่รัฐบาลประเทศต่างๆก็ยังมีช่องว่างที่จะแก้ปัญหา
ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศต่างๆเองก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ผ่อนปรนเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่นักลงทุนเชื่อว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางจะลงมือเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขในเร็วๆนี้ ส่วนเทรดเดอร์มองว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะลดดอกเบี้ยลงในเดือนต.ค.นี้ ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ที่บลูมเบิร์ก นิวส์สำรวจความคิดเห็น คาดว่า ธนาคารกลางยุโรปจะลดดอกเบี้ยลงในช่วงต้นปีหน้า หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 4.25% ในการประชุมสัปดาห์นี้
ฮัวคิม เฟลส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า ผู้บริหารระดับนโยบายอาจจะต้องร่วมมือกันในเร็วๆนี้ เพื่อลดดอกเบี้ย โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางต่างประเทศหลายแห่งก็ได้จับมือกันกับเฟด เพื่อทุ่มเงินดอลลาร์เข้าตลาดเงินแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ