สภาคองเกรสสหรัฐปฏิเสธแผนฟื้นฟูภาคการเงิน 7 แสนล้านดอลล์

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 30, 2008 06:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สภาคองเกรสสหรัฐมีมติไม่รับแผนฟื้นฟูภาคเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ตามที่รัฐบาลสหรัฐยื่นเสนอก่อนหน้านี้ ภายสมาชิกสภาคองเกรสพิจารณานานหลายชั่วโมง จึงได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 228 ต่อ 205 เสียง ไม่รับรองร่างกฎหมายแผนฟื้นฟูภาคการเงิน โดยเฉพาะสมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกันที่ปฏิเสธไม่เห็นชอบต่อแผนการดังกล่าว 
ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช รวมถึงนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายเฮนรี พอลสัน พยายามเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติแผนการดังกล่าว โดยเตือนว่าหากสภาคองเกรสล่าช้าในการอนุมัติแผนการฟื้นฟูภาคการเงินก็จะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยเร็วขึ้น
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า คริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวว่า ในเบื้องต้นนั้นวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่แผนการดังกล่าวอาจไม่ราบรื่นเมื่อสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกของรีพับลิกันเหล่านี้มีนายอิริก แคนเตอร์ เป็นผู้นำทีม
นอกจากนี้ สมาชิกพรรครีพับลิกันกลุ่มนี้ยังเรียกร้องให้ใช้ "นโยบายผ่อนปรนภาษีชั่วคราว" เพื่อเปิดทางให้สถาบันการเงินเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและมีเสรีภาพในการระดมทุน พร้อมกับแนะนำให้สถาบันการเงินระงับการจ่ายเงินปันผลไว้ชั่วคราว ควบคู่ไปกับการใช้แผนอื่นๆที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง
ทั้งนี้ แคนเตอร์กล่าวว่า "ข้อเสนอของเรามุ่งเน้นหลักการที่ว่า เราจะไม่ละทิ้งชาวอเมริกันผู้เสียภาษี และให้สถาบันการเงินในวอลล์สตรีทมีส่วนรับผิดชอบในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีส่วนในการ "เฉือนเนื้อตัวเองบ้าง" เพื่อให้สภาวะโดยรวมฟื้นตัวขึ้น" ขณะที่ เจ๊บ เฮนซาร์ลิง วุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัสกล่าวว่า "เราไม่ควรใช้แผนของรมว.พอลสัน" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ