สภาคองเกรสสหรัฐมีมติไม่รับแผนฟื้นฟูภาคเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ตามที่รัฐบาลสหรัฐยื่นเสนอก่อนหน้านี้ โดยหลังจากที่สมาชิกสภาคองเกรสพิจารณานานหลายชั่วโมง จึงได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 228 ต่อ 205 เสียง ไม่รับรองร่างกฎหมายแผนฟื้นฟูภาคการเงิน โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มั่นใจในแผนการดังกล่าว ซึ่งสมาชิกคองเกรสที่ไม่เห็นด้วยกับแผนการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน
อย่างไรก็ตาม วุฒิสมาชิกสเทนีย์ โฮเยอร์ เชื่อว่า สภาคองเกรสจะนำแผนการดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจจะหลังจากที่สภาคองเกรสยื่นเรื่องดังกล่าวให้วุฒิสภาพิจารณา ขณะที่นายบาร์นีย์ แฟรงค์ ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายบริการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสกล่าวว่า "คนของรีพับลิกันเป็นตัวตั้งตัวตีในการคว่ำแผนฟื้นฟูภาคการเงินนี้"
แต่สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนกล่าวโทษนางแนนซี เพโลซี โฆษกสภาคองเกรสสังกัดพรรคเดโมแตรตว่า มีส่วนสร้างแรงกดดันในการโหวตแผนฟื้นฟู เนื่องจากนางเพโลซีกล่าวถ้อยคำในลักษณะที่ตำหนินโยบายของคณะทำงานประธานาธิบดีบุชว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ
ด้านประธานาธิบดีบุชกล่าวว่า "ผมรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่สภาคองเกรสคว่ำแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ และไม่เข้าใจว่าทำไมคองเกรสจึงไม่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ของเราที่มุ่งจะแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจให้ดีขึ้น" ด้านนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐกล่าวภายหลังจากรู้ผลการโหวตว่า "ฝ่ายนิติบัญญัติจำเป็นต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟู เพราะตลาดทั่วโลกตกอยู่ในภาวะตึงตัว เราจำเป็นต้องใช้แผนฟื้นฟูเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ ผมจะปรึกษากับเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดและผู้นำคองเกรสบางคน รวมถึงท่านประธานาธิบดีบุช"
ขณะที่นายคริสโตเฟอร์ ด็อด ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "เรายังเชื่อว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินจะผ่านมติเห็นชอบจากสภาคองเกรส เราจะไม่ยอมเดินออกจากที่นี่ไปโดยที่งานยังไม่เสร็จ มันอาจจะต้องใช้เวลาอีกสัก 2-3 วัน ซึ่งผมมั่นใจว่าสภาจะต้องอนุมัติแน่"
ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช รวมถึงนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายเฮนรี พอลสัน พยายามเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติแผนการดังกล่าว โดยเตือนว่าหากสภาคองเกรสล่าช้าในการอนุมัติแผนการฟื้นฟูภาคการเงินก็จะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยเร็วขึ้น
เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นนั้นวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่แผนการดังกล่าวอาจไม่ราบรื่นเมื่อสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกของรีพับลิกันเหล่านี้มีนายอิริก แคนเตอร์ เป็นผู้นำทีม
นอกจากนี้ สมาชิกพรรครีพับลิกันกลุ่มนี้ยังเรียกร้องให้ใช้ "นโยบายผ่อนปรนภาษีชั่วคราว" เพื่อเปิดทางให้สถาบันการเงินเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและมีเสรีภาพในการระดมทุน พร้อมกับแนะนำให้สถาบันการเงินระงับการจ่ายเงินปันผลไว้ชั่วคราว ควบคู่ไปกับการใช้แผนอื่นๆที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การที่สภาคองเกรสมีมติคว่ำแผนฟื้นฟูภาคการเงินได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ และฉุดดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 777.68 จุด หรือ 6.98% ปิดที่ 10,365.45 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--