นักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องกับมาใช้ยุทธวิธีของตนเองต่อไปหลังจากที่สภาคองเกรสไม่อนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าหนึ่งในยุทธวิธีที่ เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดจะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นและกอบกู้ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินให้กลับคืนมาก็คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และคาดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะดำเนินการร่วมกับธนาคารกลางอื่นๆทั่วโลก
ตลาดการเงินทั่วโลกตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกหลังจากสภาคองเกรสสหรัฐมีมติไม่รับแผนฟื้นฟูภาคเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ตามที่รัฐบาลสหรัฐยื่นเสนอก่อนหน้านี้ ด้วยการลงคะแนนเสียง 228 ต่อ 205 เสียง โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มั่นใจในแผนการดังกล่าว ซึ่งข่าวดังกล่าวได้ฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ร่วงลง 777.68 จุด หรือ 6.98% ปิดที่ 10,365.45 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปีเมื่อคืนนี้
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช กล่าวว่า "ผมรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่สภาคองเกรสคว่ำแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ และไม่เข้าใจว่าทำไมคองเกรสจึงไม่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ของเราที่มุ่งจะแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจให้ดีขึ้น"
ขณะที่นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐกล่าวภายหลังจากรู้ผลการโหวตว่า "ฝ่ายนิติบัญญัติจำเป็นต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟู เพราะตลาดทั่วโลกตกอยู่ในภาวะตึงตัว เราจำเป็นต้องใช้แผนฟื้นฟูเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ ผมจะปรึกษากับเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดและผู้นำคองเกรสบางคน รวมถึงท่านประธานาธิบดีบุช"
เคธ เฮมบรี หัวหน้านักวิเคราะห์จาก FAF Advisors Inc กล่าวว่า "มีความเป็นไปได้สูงมากที่เฟดจะลดดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นลงเหลือ (fed fund rate) 1.50% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.00% การที่สภาคองเกรสไม่อนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินทำให้เราเชื่อว่าอัตราว่างงานสหรัฐจะพุ่งสูงขึ้นอีก และจะยิ่งทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้น"
ขณะที่ไบรอัน เบธัน หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Global Insight คาดว่า "นอกเหนือจากการลดดอกเบี้ยแล้ว คาดว่าเฟดจะหาทางเลือกอื่นๆในการกอบกู้วิกฤตการณ์ในภาคการเงิน ด้วยการปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉิน โดยใช้เม็ดเงินจากงบประมาณของเฟดเอง"
ก่อนหน้าที่สภาคองเกรสจะโหวตแผนฟื้นฟูภาคการเงินเมื่อคืนนี้ เฟดยืนยันว่าจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินอีก 6.30 แสนล้านดอลลาร์ และจะใช้แผน Term Auction Facility เพื่อขยายวงเงินกู้ฉุกเฉินให้กับธนาคารพาณิช์ประมาณ 3-4.50 แสนล้านดอลลาร์
เมื่อไม่นานมานี้ เฟดได้อัดฉีดสภาพคล่องมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบการเงินทั่วโลก โดยการทำข้อตกลงสว็อปค่าเงินร่วมกับธนาคารกลาง 4 แห่ง คือ ธนาคารกลางออสเตรเลีย ธนาคารกลางเดนมาร์ก ธนาคารกลางนอร์เวย์ และธนาคารกลางสวีเดน โดยมีเป้าหมายที่จะบรรเทาภาวะขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์ในตลาดการเงินทั่วโลก นับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์สล้มละลาย และบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) ขาดสภาพคล่องอย่างหนักจนเฟดต้องเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--