(เพิ่มเติม) "โอฬาร"แถลงมาตรการตั้งรับผลกระทบวิกฤติ ศก.สหรัฐป้องกันลุกลามมาถึงไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 30, 2008 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นำคณะกรรมการติดตามแก้ไขสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินแถลงผลการหารือเร่งด่วนเพื่อกำหนดมาตรการรับมือผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐที่อาจลุกลามและส่งผลกระทบมาถึงไทย หลังจากสภาคองเกรสของสหรัฐปฏิเสธแผนอัดฉีดสภาพคล่อง 7 แสนล้านดอลลาร์ของฝ่ายบริหาร 
มาตรการที่ได้หารือกันในวันนี้ มีทั้งระยะสั้น 3 เดือน และมาตรการระยะยาวหลังจากผ่านพ้นระยะดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มมีการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะการแสวงหาความร่วมมือในระดับนานาชาติ โดยมาตรการทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ตลาดทุน, สภาพคล่อง ต้นทุนทางการเงิน, การส่งออก และ ความร่วมมือทางการเงินกับเอเชีย
"แนวทางของไทย คือการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคลุกลามเข้ามาในประเทศ โดยแผนรับมือจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ การบริหารจัดการวิกฤติในช่วง 3 เดือน และใช้วิกฤติด้านการเงินของโลกพลิกเป็นโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือทางการเงินกับประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกัน" นายโอฬาร กล่าวในการแถลงข่าว
ในด้านตลาดทุนนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จะชี้แจงไม่ให้นักลงทุนตื่นตระหนก และแนะนำให้ใช้จังหวะที่ค่าพีอีของตลาดหุ้นไทยต่ำมากเพื่อเข้าลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีและผลประกอบการให้ดี พร้อมทั้งผลักดันให้นักลงทุนสถาบัน ซึ่งได้แก่ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐบาลและเอกชนต่างๆ รวมทั้ง กองทุนที่จัดตั้งโดย ตลท. และบริษัทกองทุนรวม และบริษัทจดทะเบียนที่มั่นคง เช่น Matching Fund และกองทุนพลังงาน ควรเข้าซื้อหุ้นที่พื้นฐานดี ราคาถูก เพื่อเป็นตัวชี้แนะให้แก่นักลงทุนรายย่อย
กระทรวงการคลัง พิจารณาขยายวงเงินและสัดส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินออมที่ลงทุนในกองทุนระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) และกองทุนระยะยาวเพื่อการลงทุนหุ้น(LTF) ในระยะ 3 เดือนก่อนสิ้นปี, ตลท.และบริษัทจัดการกองทุนรวม ร่วมกันจัดงานตลาดนัดกองทุนรวมตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
ด้านสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงิน หากมีการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ไทยมีทุนสำรองกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ จึงเชื่อว่าไม่มีปัญหา, ในกรณีที่ต้องการสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศเมื่อมีการลงทุนขนาดใหญ่ กระทรวงการคลังสามารถกู้ G to G ได้ตลอดเวลา, ธปท.จะดูแลสภาพคล่องอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้กลไกเสริมสภาพคล่องในระยะสั้นให้กับสถาบันการเงินทุกแห่งทันที
กระทรวงการคลังสามารถดูแลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีสินเชื่อให้ประชาชน และ SMEs อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ ต.ค.เป็นต้นไป, เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ พัฒนาท้องถิ่นสู่มือประชาชนโดยเร็ว และงบลงทุนภาครัฐ, ชะลอการระดมทุนของต่างประเทศในรูปของบาทบอนด์ จนกว่าปัญหาสภาพคล่องภายในจะคลี่คลาย
ด้านการส่งออก ต้องดูแลตลาดในเอเชียให้ดี และสร้าง Demand ในประเทศชดเชย และสุดท้ายการดำเนินการเชิงรุก โดยร่วมมือกับเอเชีย และความร่วมมือทางการเงินของประชาคมเอเชีย
นายโอฬาร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ เชื่อว่าสถาบันการเงินของไทยจะไม่ประสบปัญหาวิกฤติ เนื่องจากไม่ได้ปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพเหมือนเช่นสหรัฐฯ ขณะที่ผลกระทบจากการออกไปลงทุนในตราสารหนี้ เช่น ซับไพร์มโลน อาจมีปัญหาอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก และได่มีการตั้งสำรองรับความเสี่ยงทั้งหมดไปแล้ว
สำหรับความกังวลถึงผลกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องระบบสถาบันการเงินและสภาพคล่องนั้น รัฐบาลจะดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมมาตรการไว้รองรับเพื่อไม่ให้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินโลกลุกลามเข้ามาในไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ