ไมโครซอฟท์-เชอริ่ง-พลาว ชี้คองเกรสเมินแผนฟื้นฟูฉุดเศรษฐกิจทั้งระบบอยู่ในภาวะเสี่ยง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 30, 2008 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของสหรัฐ ตั้งแต่บริษัท ไมโครซอฟท์ ไปจนถึงบริษัท ออฟฟิศ เดโปต์ และบริษัท เชอริ่ง-พลาว จำกัด เปิดเผยว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลในการกอบกู้ธุรกิจธนาคารสหรัฐ จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ยกเว้นเสียแต่ว่า รัฐบาลจะสามารถผลักดันข้อตกลงเพื่อแก้วิฟฤตออกมาได้ในเร็วๆนี้
แบรด สมิท ที่ปรึกษาของไมโครซอฟท์ กล่าวให้สัมภาษณ์หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงคะแนนเสียง 228 เสียง ไม่ให้รับรองแผนการซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาว่า หลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจมีความเกี่ยวพันอย่างซับซ้อน เราจะเป็นต้องทำความเข้าใจว่า ระบบเศรษฐกิจโดยรวมอาจจะอยู่ในสถานการณ์เช่นปัจจุบันนี้ได้
บลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้บริหารของบริษัทสหรัฐโดยรวมก็มีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกัน และเป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการออกกฎหมายเพื่ออุ้มสถาบันการเงินภายในประเทศ ผู้บริหารบริษัทเอกชนต่างเรียกร้องให้สภาคองเกรสเลิกเล่นการเมืองในประเด็นนี้
วิกฤตสภาพคล่องครั้งนี้ได้ลุกลามไปนอกตลาดวอลล์ สตรีทแล้ว และกำลังส่งผลคุกคามต่อธุรกิจประเภทต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีกไปจนถึงบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี นายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า กลไกในการปกป้องระบบการเงินของกระทรวงมีความสำคัฐแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ หลังจากที่แผนช่วยเหลือสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ไม่ได้รับการอนุมัติ
เฟรด ฮัสซัน ซีอีโอของบริษัท เชอริ่ง-พลาว กล่าวว่า น่าเสียดายที่เรื่องนี้พัฒนาไปสู่สถานการณ์ที่ยุ่งเหยิง และความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะถดถอยก็มีมากขึ้น
ทางด้านบริษัท เจนเนอรัล อิเล็กทริค ซึ่งมีธุรกิจตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ คอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ การบินอวกาศ อุปกรณ์ด้านพลังงงาน สื่อ และการดูแลสุขภาพ ได้เจรจากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เพื่อแสดงจุดยืนในการสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว
บริษัท แฟร์ฟีลด์ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ปรับลดคาดการณ์กำไรปีนี้เป็นครั้งที่ 2 มองว่า ควรจะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ แม้ว่าบริษัทจะมองว่า มาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินสหรัฐจะไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็ตาม
ผู้บริหารไมโครซอฟท์ กล่าวว่า ผู้บริหารบริษัทเอกชนต่างคาดว่า สภาฯจะอนุมัติร่างกฎหมาย แม้ว่า ผู้บริหารในรัฐบาลจะมองว่าการอนุมัติร่างกฎหมายอุ้มสถาบันการเงินจะเป็นเรื่องลำบาก และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมบริษัทเอกชนไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของแผนการช่วยเหลือในช่วงก่อนหน้านี้
เดวิด คอสเปอร์ ซีอีโอของโซนิค ออโตโมทีฟ อิงค์ บริษัทขายรถรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐ กล่าวว่า ผมไม่อยากจะเชื่อว่า สภาผู้แทนฯรู้ตัวดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราต้องการแผนการช่วยเหลือ ตลาดตกอยู่ในภาวะชะงักงัน แบงค์ก็กำลังถูกเทคโอเวอร์ นี่คือ วิกฤตการณ์แท้ๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ