ผู้นำประเทศทั่วเอเชียจี้สภาคองเกรสอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงิน เตือนอาจกระทบการเงินทั้งระบบ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 30, 2008 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บรรดาผู้นำในประเทศเอเชียต่างเรียกร้องให้สภาคองเกรสและวุฒิสภาสหรัฐผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่า จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการธนาคารและจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน
ทาโร อาโสะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า "ทั่วโลกกำลังใช้มาตรการปกป้องเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะล่มสลาย ล่าสุด ในวันนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้อัดฉีดเงิน 2 ล้านล้านเยนเข้าสู่ตลาดเงินญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินการติดต่อกันเป็นวันที่ 10" ขณะที่นายคัง มัน ซู รมว.คลังเกาหลีใต้กล่าวว่า รัฐบาลเกาหลีใต้พร้อมที่จะนำเงินจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศออกมาใช้เพื่อยับยั้งการร่วงลงของค่าเงินวอน
คาโอรุ โยซาโนะ รมว.เศรษฐกิจและนโยบายการคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า "เรารู้ดีว่าสถานการณ์การเมืองในสหรัฐซับซ้อนมากในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งเราก็กังวลเรื่องนี้อย่างยิ่ง แต่การที่สภาคองเกรสไม่ผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐเองเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย เราได้แต่คาดหวังว่าสภาคองเกรสจะนำเรื่องนี้กลับไปพิจารณาอีกครั้ง และจะผ่านความเห็นชอบในที่สุด"
ขณะที่เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และ กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เรียกร้องให้สภาคองเกรสสหรัฐอนุมัติแผนกู้วิกฤตการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดและย้ำให้ทำทุกวิถีทางเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดเอาไว้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวว่า "สภาคองเกรสควรอนุมัติแผนกู้วิกฤตมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์หรือมาตรการใดก็ตามที่มีความคล้ายคลึงกัน" ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า "เราได้ส่งสัญญาณให้ทางสหรัฐรู้แล้วว่าการตัดสินใจของพวกเขาส่งผลต่อเรามากเพียงใด และการที่แผนดังกล่าวไม่ผ่านการอนุมัติจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสหรัฐและทั่วโลก"
ด้านนายโดนัลด์ ซัง ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้ออกมาแสดงความผิดหวังที่สภาคองเกรสปฏิเสธแผนฟื้นฟูฉบับนี้ พร้อมกับออกแถลงการณ์เพื่อลดความตื่นตระหนกในตลาดและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า ระบบเศรษฐกิจและการเงินของฮ่องกงยังแข็งแกร่ง และฮ่องกงสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านการเงินในเอเชียเมื่อ 10 ปีที่แล้ว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ