ธปท.จะทบทวนคาดการณ์ GDP ใน ต.ค.หลังแรงกดดันลด-ปัจจัยเปลี่ยน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 30, 2008 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายธิตินันทิ์ มัลลิกะมาศ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะพิจารณาทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยปี 51 ในรายงานแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อฉบับเดือนตุลาคม 2551 จากที่คาดไว้เดิมที่ 4.8-5.8% หลังจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป 
ในช่วงที่ผ่านมาแรงกดดันต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ผลจากมาตรการภาครัฐ"6 มาตรการ 6 เดือนฯ"
ขณะเดียวกันพบว่ามีแรงกดดันต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ และในช่วงปลายเดือนมีหลายสถานการณ์เกิดขึ้น ทั้งความวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วงทางการเมือง การประกาศภาวะฉุกเฉินฯ ในกทม. ส่วนในช่วงปลายเดือนก.ย.ก็มีปัญหาวิกฤติเลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่นิ่ง จึงต้องใช้เวลาดูอีกครั้งเพื่อทบทวนให้ดีก่อน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของการส่งออก โดยในเดือนส.ค.การส่งออกขยายตัวต่ำกว่าเดือนก่อนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานในเดือนก่อนค่อนข้างสูงโดยส่งออกขยายตัวถึง 43.9% และในเดือนนี้การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นสามารถขยายตัวได้ดีเพียงตลาดเดียว ขณะที่ตลาดอื่น ๆ ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งชะลอตัวอย่างชัดเจน รวมทั้งอาเซียน
นายธิตินันทิ์ กล่าวว่า ปัญหาจากวิกฤติเลห์แมนฯ ช่วงแรกในไตรมาส 2/51 ยังไม่กระทบมาถึงการส่งออกของไทยมากนัก เพราะมีการขยายตลาดภูมิภาคเอเชียมากขึ้น แต่ต่อจากนี้จะมีผลกระทบอย่างไรก็ต้องประเมินอีกครั้ง
ขณะที่การลงทุนชะลอตัวจากปัญหาความไม่เชื่อมั่นทางการเมือง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ส่วนหนึ่งมาจากฐานปลายปีก่อนค่อนข้างสูงด้วย ขณะที่เครื่องชี้ โดยเฉพาะการก่อสร้าง และซีเมนต์ ขยายตัวไม่ดีนัก แต่ปัจจัยที่ผลักดันการขยายตัวของการลงทุน คือ การนำเข้าสินค้าทุน และปลายเดือนส.ค.มีเหตุการณ์วุ่นวายด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ