ปลัดอุตฯชี้วิกฤติการเงินสหรัฐส่งผลกระทบให้จีดีพีปีหน้าลดต่ำลงกว่าปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 30, 2008 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลสหรัฐว่าจะมีแผนแก้วิกฤติการเงินอย่างไรต่อไป หลังสภาคองเกรสของสหรัฐไม่ผ่านแผนกู้วิกฤติการเงินมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะปัญหาวิกฤติการเงินคงต้องมีทางออก เช่น อาจมีการเสนอแผนเข้าสภาอีกครั้ง หรืออาจต้องให้กิจการที่มีปัญหาล้มไป หรืออาจจะรอให้มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองแล้วค่อยเสนอแผนกอบกู้วิกฤติใหม่ ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็นคู่ค้ากับสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน
"เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคงจะได้รับผลกระทบ อัตราการเติบโตคงจะต่ำกว่าปีนี้อย่างแน่นอน สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเพื่อรับมือภาวะวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐคือ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอย การสร้างรายได้ให้กับประชาชน" นายจักรมณฑ์ กล่าว
ผลกระทบอันดับแรกคือ เรื่องเงินทุนไหลออก ซึ่งถือว่าเป็นหลุมดำทางการเงิน แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เพราะปกติเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียที่มีทุนสำรองรวมกันแล้วเกินกว่าครึ่งหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศของโลก
นอกจากนี้ ในด้านการค้าต่างประเทศเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐ เนื่องจากเป็นคู่ค้ารายใหญ่เหมือนกัน แม้ว่าระยะหลังนี้ไทยมีมูลค่าการค้ากับประเทศในเอเชียสูงขึ้นก็ตาม เพราะถ้าสหรัฐมีกำลังซื้อลดลงก็ย่อมส่งผลต่อความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย ดังนั้นถ้าส่งผลกระทบต่อการค้าต่างประเทศของประเทศอื่นๆ อย่างจีน และแม้แต่ประเทศในยุโรปก็อาจกระทบไทยในฐานะที่ไทยเองก็ส่งสินค้าชิ้นส่วนไปหลายประเทศแล้วประเทศเหล่านั้นก็ประกอบสินค้าส่งเข้าไปขายที่สหรัฐ
ส่วนด้านการลงทุนเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็คงเข้ามาน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับประเทศไทยเองมีปัญหาการเมืองภายในอยู่แล้ว ทำให้ที่ผ่านมามีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนน้อยกว่าที่ขอเข้ามา ขณะที่การขอส่งเสริมเองก็ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้เดิม 6 แสนล้านบาท แต่ 8 เดือนขอส่งเสริมแค่ 2.9 แสนล้านบาท อนุมัติ 2.6 แสนล้านบาท เพราะการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยทำให้กลไกการทำงานต่างๆ ล่าช้า
ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า วิกฤติการเงินของสหรัฐที่ลุกลามไปทั่วโลก และเป็นผลพวงต่อเนื่องจากวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพร์ม) เมื่อกลางปี 50 อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง สศอ.ประมาณการของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปี 51 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 7% จากที่เคยประเมินไว้เมื่อต้นปีว่าจะขยายตัวมากกว่านี้เล็กน้อย
แม้ผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มเมื่อกลางปี 50 จะมีไม่มากนัก แต่ที่เห็นภาพชัดเจนคือ ภาวะเงินทุนไหลออก เงินบาทแข็งค่า การส่งออกลดลง ซึ่งภาครัฐได้ยื่นมือเข้าไปพยุงสถานการณ์จนสถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ
การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกขยายตัว 26% โดยตลาดสหรัฐยังเป็นตลาดสำคัญมีอัตราการขยายตัว 8.23% คิดเป็นมูลค่า 13,479.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ตัวเลขส่งออกยังขยายตัวแต่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำ และสินค้าที่ส่งออก 3 ลำดับแรกกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อาจทำให้อัตราการขยายตัวในตลาดสหรัฐค่อยๆ ลดลง ซึ่งคาดว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐจะขยายตัว 4-5% ดังนั้นการส่งออกโดยรวมสำหรับปี 51 จะขยายตัว 15-20% และการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลังจะต่ำกว่าคาดการณ์ไว้บ้างเล็กน้อย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ