นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า การประสบปัญหาทางการเงินของธนาคารฟอร์ติส จากกลุ่มประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต และบริษัท เมืองไทยประกันภัย เพราะธนาคารฟอร์ติสไม่ได้ถือหุ้นในทั้ง 2 บริษัท มีเพียงบริษัท ฟอร์ติส อินชัวรันส์ อินเตอร์เนชันแนล เอ็นวี เท่านั้นที่ถือหุ้นในทั้ง 2 บริษัท ซึ่งทั้งธนาคารฟอร์ติส และบริษัท ฟอร์ติส อินชัวรันส์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน
อย่างไรก็ตาม หากปัญหาลุกลามมากขึ้นจริง บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต และบริษัท เมืองไทยประกันภัย ก็พร้อมซื้อหุ้นกลับคืนจากฟอร์ติส อินชัวรันส์ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ฟอร์ติส อินชัวรันส์ มีสัดส่วนถือหุ้นในบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต 25% หรือ 92,649 หุ้น จากทั้งหมด 370,598 หุ้น และในบริษัท เมืองไทยประกันภัย 10% หรือ 5.9 ล้านหุ้น จากทั้งหมด 59 ล้านหุ้น
นางจันทรา กล่าวว่า ฐานะทางการเงินของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ยังเข้มแข็งมาก มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 4 มีเบี้ยประกันรับรวม ณ สิ้นเดือน ส.ค.51 ที่ 11,195 ล้านบาท เติบโต 27.8% ขณะที่สินทรัพย์รวมเดือน ก.ค.51 มี 54,197 ล้านบาท เงินกองทุน 6,571 ล้านบาท คิดเป็น 728.88% ของเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมาย ขณะที่บริษัท เมืองไทยประกันภัย มีสินทรัพย์รวม 5,446 ล้านบาท เงินกองทุน 1,783 ล้านบาท คิดเป็น 678% ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 150%
"ขอย้ำว่า ทั้ง 2 บริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงิน แต่หากได้รับผลกระทบจริง ทั้ง 2 บริษัทมีความแข็งแกร่งพอที่จะจ่ายภาระผูกพัน และผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย ดังนั้นไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกไปเวนคืนกรมธรรม์ก่อนกำหนด" นางจันทรา ระบุ
ส่วนการขอเวนคืนกรมธรรม์ของบริษัท เอไอเอ วันที่ 17-26 ก.ย.51 มีทั้งสิ้น 1,500 ราย เป็นเงิน 150 ล้านบาท มีการเวนคืนมากสุดวันละ 300 กรมธรรม์ จากปกติวันละ 100 กรมธรรม์ แต่ขณะนี้การเวนคืนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
นางจันทรา เชื่อว่า ปัญหาวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ และยุโรป จะไม่ลุกลามมาถึงบริษัทประกันภัยในไทยที่มีผู้ถือหุ้นจากทั้งสหรัฐ และยุโรป เพราะ คปภ.ควบคุมการบริหารจัดการและฐานะทางการเงินของบริษัทประกันภัยทุกแห่งอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกำหนดให้ต้องส่งฐานะทางการเงินทุก 30 วัน มีการควบคุมการลงทุนอย่างเข้มงวด โดยต้องลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด และต้องมีผลประโยชน์คุ้มค่าซึ่งบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ
นางจันทรา กล่าวว่า จะเสนอให้กระทรวงการคลังทำแผนฉุกเฉินจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้เอาประกัน เพื่อให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยกรณีที่บริษัทประกันภัยล้ม โดยจะเสนอให้รัฐบาลออกเงินเป็นทุนประเดิม 10,000 ล้านบาท แยกเป็นคุ้มครองประกันชีวิต 9,000 ล้านบาท และคุ้มครองประกันภัย 1,000 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ถือกรมธรรม์ในกรณีเกิดปัญหา
สำหรับบริษัทประกันชีวิตในไทยที่มีต่างชาติถือหุ้นนั้น ปัจจุบันมี 13 บริษัท และสาขาจากต่างชาติ 1 บริษัท จากทั้งหมด 24 บริษัท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับคือ ฮ่องกง เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และถือหุ้นไม่เกิน 25% เช่น บริษัท อยุธยาอลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต บริษัท ไทยพาณิชย์นิวยอร์กไลฟ์ประกันชีวิต บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต บริษัท เอไอเอ (สาขาประเทศไทย)
ส่วนบริษัทประกันวินาศภัยมีต่างชาติถือหุ้น 30 บริษัท สาขาต่างขาติ 5 บริษัท จากทั้งหมด 72 บริษัท ซึ่งทั้งหมดถือหุ้นไม่เกิน 25% เช่นกัน โดยประเทศที่ลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ซึ่งลงทุนในบริษัท เมืองไทยประกันภัย บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย บริษัท ประกันภัยศรีเมือง บริษัท นิวแฮมเชอร์ อินชัวรันส์ (สาขาประเทศไทย) บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) เป็นต้น
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--