รฟท.เผยเจบิคจี้แก้ปัญหาผู้บุกรุกแนวเส้นก่อสร้างรถไฟฟ้าสีแดงก่อนปล่อยกู้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 30, 2008 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยถึงโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร ว่า ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิค) ได้เสนอให้ปรับวงเงินค่าก่อสร้างให้เป็นราคาปัจจุบัน พร้อมทั้งเพิ่มวงเงินในการจัดซื้อหัวรถจักรที่จะนำมาใช้ในโครงการ ซึ่ง รฟท.ได้ดำเนินการแล้ว โดยกรอบวงเงินโครงการเมื่อรวมระบบรถจะเพิ่มเป็น 92,924 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นระบบรถในเส้นทางบางซื่อ-รังสิต 7,019 ล้านบาท และระบบรถในเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชันอีก 3,589 ล้านบาท จากเดิมที่คณะกรรมการ รฟท.เคยอนุมัติวงเงินไว้ 77,053 ล้านบาท 
อย่างไรก็ตาม รฟท.จะหารือกับเจบิคถึงเงื่อนไขการให้กู้อีกครั้ง หลังจากเจบิคเสนอให้ รฟท.รื้อย้ายผู้บุกรุกออกจากแนวเส้นทาง และจัดหาที่อยู่ใหม่ รวมทั้งจ่ายเงินชดเชยให้ผู้บุกรุกก่อนจึงจะพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้ ซึ่งคณะกรรมการ รฟท.เห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับจึงควรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน และเสนอคณะกรรมการ รฟท.พิจารณาพร้อมกับกรอบวงเงินใหม่ ก่อนจะเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป
แหล่งข่าวจาก รฟท. กล่าวว่า สาเหตุที่เจบิคให้ความสำคัญเรื่องการรื้อย้ายผู้บุกรุก เพราะไม่ต้องการให้เป็นอุปสรรคต่อผู้รับเหมาต่างชาติที่จะเข้าร่วมประกวดราคา หากกำหนดให้ผู้รับเหมาเป็นผู้ดำเนินการรื้อย้ายผู้บุกรุกเช่นเดียวกับโครงการสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อาจส่งผลให้ผู้รับเหมาต่างชาติเห็นว่าเป็นข้อจำกัดและไม่เข้าประกวดราคา ซึ่งเจตนารมณ์ของเจบิคต้องการให้เงื่อนไขเปิดกว้างและมีผู้เข้าประกวดราคาหลายราย
ส่วนกรณีของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ซึ่งใช้เงินกู้เจบิคในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง แต่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องการรื้อย้าย เป็นเพราะ รฟม.สามารถออกพระราชกกฤษฏีกาเวนคืนที่ดินได้ โดยใช้กฎหมายบังคับซื้อคืนที่ดิน แต่ในกรณีของ รฟท.เป็นการบุกรุกพื้นที่ ไม่สามารถออกพระราชกฤษฏีได้ และกฎหมายไม่ได้รองรับให้จ่ายเงินแก่ผู้บุกรุก
ทั้งนี้ เจบิคได้เสนอให้ รฟท.พิจารณาใน 2 ทางเลือก คือ ให้ผู้รับเหมาดำเนินการรื้อย้าย แต่ รฟท.ต้องรับผิดชอบมากขึ้น โดยให้ความช่วยเหลือผู้รับเหมาอย่างเต็มที่ในการรื้อย้ายและขับไล่ผู้บุกรุก เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าจนต้องขยายเวลาก่อสร้าง หรือให้ รฟท.เป็นผู้ดำเนินการรื้อย้ายในระหว่างที่กระบวนการเจรจาเงินกู้ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะกว่าจะประกวดราคาได้ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6-9 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้ รฟท.น่าจะดำเนินการรื้อย้ายได้ โดยว่าจ้างบริษัทให้เป็นผู้ดำเนินการ
"โครงการช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันมีผู้บุกรุกกว่า 3 ครัวเรือน แต่ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีผู้บุกรุกน้อยกว่าประมาณเท่าตัว จึงไม่น่ามีปัญหา แต่ต้องเร่งทำ เพราะปัจจุบันพบว่ามีผู้บุกรุกทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะหวังจะได้รับค่าชดเชยและเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ" แหล่งข่าว กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ