ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยหนีไม่พ้นรับผลกระทบวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ โดยเฉพาะภาคการเงินที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ขณะที่ส่งออกสะเทือนจากการลดลงของอุปสงค์ในสหรัฐและตลาดโลก ปี 52 ส่งออกอาจขยายตัวลดลงเหลือ 5-10% คาดภาครัฐใช้ความยืดหยุ่นมากชึ้นในการบริหารนโยบายการเงินการคลังเพื่อรับมือ
แม้ว่ามีความเป็นไปได้ที่สภานิติบัญญัติสหรัฐอาจจะพิจารณาผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ในเร็วๆ นี้ แต่ก็ยังคงมีประเด็นความไม่ชัดเจนในเรื่องประสิทธิผลของแผนดังกล่าว ในขณะที่รายละเอียดของแผนการช่วยเหลือภาคการเงินคงจะต้องถูกแก้ไขสาระสำคัญบางส่วน และอาจมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีสหรัฐฯ รวมทั้งกระบวนการเข้าไปให้ความช่วยเหลือที่จะต้องโปร่งใส และต้องรายงานต่อฝ่ายนิติบัญญัติ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามก็คือความเข้มงวดที่เพิ่มขึ้นของกฎเกณฑ์ต่างๆ อาจจะส่งผลให้การให้ความช่วยเหลือขาดความยืดหยุ่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาคการเงินทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องในขณะนี้ ทำให้ประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าวอาจถูกลดทอนลงไปได้
สำหรับผลกระทบต่อภาคการเงินของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการที่ตลาดการเงินสหรัฐและตลาดการเงินโลก น่าจะตกอยู่ในสภาวะที่ตึงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ภาคการเงินไทยอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของคู่ค้า-คู่สัญญา ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านการลงทุนและความเสี่ยงด้านเครดิต
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นเดือน ก.ค.51 ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเป็นขาซื้อ 1.31 แสนล้านดอลลาร์ฯ และขาย 1.49 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นฐานะสุทธิ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.1 แสนล้านบาท)
แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะรวบรวมจากธุรกรรมหลากหลาย อาทิ Swap, Options และธุรกรรมแบบ Outright ทั้งที่ธนาคารพาณิชย์ทำให้กับลูกค้าในและต่างประเทศ และ/หรือทำกับสถาบันการเงิน แต่ก็น่าจะสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้เบื้องต้นถึงขอบเขตความเสี่ยงด้านคู่ค้าที่ทั้งสถาบันการเงิน และบริษัทไทยอาจต้องเผชิญในกรณีที่คู่ค้าในต่างประเทศไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้
ขณะที่ปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินในต่างประเทศได้แผ่ขยายวงกว้างออกไปยังประเทศอื่นๆ อาจทำให้สถาบันการเงิน และนักลงทุนไทยมีความเสี่ยงด้านการลงทุนอยู่ ถึงแม้ว่าความเสี่ยงบางส่วนจะได้ทยอยรับรู้ไปแล้วและกำลังจะทยอยรับรู้เพิ่มเติมในไตรมาส 3/51 นี้ก็ตาม
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าความเสี่ยงจากการปล่อยกู้และลงทุนในตราสารต่างประเทศจะอยู่ในขอบเขตจำกัด (ณ สิ้นไตรมาส 2/51 เงินลงทุนในตราสารต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไทย 12 แห่งมีจำนวน 1.36 แสนล้านบาทตามราคาทุน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 12.9% ของเงินลงทุนรวม และ 1.7% ของสินทรัพย์รวม) อีกทั้งสถาบันการเงินไทยอาจจะทยอยลดการลงทุนในตลาดต่างประเทศลง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า คาดว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ที่ 4.0-4.5% โดยมีค่ากลางที่ 4.3% ซึ่งชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 5.7% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และคงจะทำให้จีดีพีสำหรับทั้งปี 51 ขยายตัวเพียงประมาณ 5.0% ขณะที่คาดว่า GDP ในปี 52 จะขยายตัวอยู่ในกรอบประมาณ 4.0-5.5% โดยมีความโน้มเอียงไปที่กรอบล่างตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกในปีหน้า
ในขณะที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเอง ก็ยังอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชน การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนไทย และเพิ่มความเสี่ยงด้านเครดิตให้กับสถาบันการเงินไทย ทำให้ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของคุณภาพหนี้ และการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตของตนอย่างระมัดระวังต่อไป
ส่วนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงที่จะถูกกระทบเป็นอันดับแรกคือ ภาคการส่งออก คาดว่าแนวโน้มในปี 52 ในด้านปริมาณอาจจะขยายตัวต่ำลงมาอยู่ที่ 5-10% ชะลอตัวลงจาก 11% ในปี 51 ขณะที่ในด้านราคาคงได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวทำให้ปรับเพิ่มขึ้นได้จำกัดหรืออาจปรับลดลงได้ โดยรวมแล้วคาดว่าในปี 52 อาจมีอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วง 5-10% ชะลอลงจากที่คาดว่าจะขยายตัว 18% ในปี 51
เมื่อพิจารณาปัจจัยภายในประเทศ อาจยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมือง จากความเสี่ยงเ ศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประมาณการ GDP ในปี 52 ไว้ในกรอบระหว่าง 4.0-5.5% โดยโน้มเอียงไปที่กรอบล่างหากวิกฤตการเงินโลกยืดเยื้อ และส่งผลกระทบในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มียอดคงค้างของพันธบัตร ธปท.ที่มีสูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท อาจจะทยอยปล่อยให้สภาพคล่องไหลกลับเข้าสู่ระบบได้หากพิจารณาว่ามีความจำเป็น ขณะเดียวกัน คาดว่า ธปท.น่าจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย อันเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลง รวมถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า
ส่วนทางด้านการคลังนั้น คาดว่ารัฐบาลไทยน่าจะยังคงมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เป็นผลจากการที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ คือประมาณ 35% เมื่อเทียบกับกรอบสมดุลทางการคลังที่กำหนดเพดานไว้ที่ 50% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของนโยบายการคลัง ยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--