ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบยูโร รับกระแสคาดธนาคารกลางยุโรปเล็งลดดอกเบี้ย

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 2, 2008 07:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินทั่วโลก ซึ่งจะสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อสกุลเงินยูโร นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าวุฒิสภาสหรัฐจะอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับ 1.4012 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.4102 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลง 1.7705 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.7828 ดอลลาร์/ปอนด์
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 105.88 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 106.03 เยน/ดอลลาร์ แต่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1252 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1211 ฟรังค์/ดอลลาร์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.6712 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6704 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.7878 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.7941 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
นักลงทุนคาดว่าวุฒิสภาสหรัฐจะมีมติผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากสภาคองเกรสมีมติไม่ผ่านแผนฟื้นฟูฉบับดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 228 ต่อ 205 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ทรุดลง 777.68 จุด หรือ 6.98% ปิดที่ 10,365.45 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
แผนฟื้นฟูภาคการเงินที่ยื่นต่อวุฒิสภาครั้งนี้เพิ่มเติมเงื่อนไขบางอย่าง รวมถึงการเพิ่มค้ำประกันวงเงินฝากธนาคารที่ได้รับการค้ำประกันโดย FDIC จาก 100,000 ดอลลาร์ เป็น 250,000 ดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มีต่อสถาบันการเงิน
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ออกแถลงการณ์ที่ทำเนียบขาว โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าเจรจากับแกนนำในสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่จะแก้ไขวิกฤติทางการเงินของสหรัฐที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และขอให้ชาวสหรัฐและประชาชนทั่วโลกมั่นใจว่าการที่สภาคองเกรสไม่อนุมัติแผนฟื้นฟูเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ยังไม่ใช่การสิ้นสุดของกระบวนการนิติบัญญัติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ